ทำความรู้จักกับ "มาตรฐานการปฏิบัติงานของกระบวนงานหลักห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา"

อีกไม่นาน ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (Provincial University Library Network) หรือ PULINET จะมีมาตรฐานการปฏิบัติงานของกระบวนงานหลักห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการดำเนินงานห้องสมุด ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค
แล้วมาตรฐานการปฏิบัติงานดังกล่าวเป็นอย่างไร?
ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า รางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศไทย (Thailand Quality Award) หรือ TQA ได้กำหนดเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการให้องค์กรบรรลุผลลัพธ์ที่เป็นเลิศไว้ 6 หมวด โดยในหมวดที่ 6 ว่าด้วยเรื่อง การจัดการกระบวนการ ซึ่งเป็นการจัดกระบวนการต่าง ๆ ในองค์กร แบ่งออกเป็นสองระดับคือ ระดับระบบงานและระดับกระบวนการทำงาน โดยกระบวนการทำงาน เช่น กระบวนการผลิต กระบวนการส่งมอบผลิตภัณฑ์และการให้บริการ กระบวนการทางธุรกิจ กระบวนการสนับสนุน กระบวนการบริหารองค์กร เป็นต้น จะเป็นองค์ประกอบย่อยที่อยู่ในระบบงาน ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ในองค์กรจะเชื่อมโยง ประสานกันกลายเป็นระบบงานขององค์กร
เครื่องมือที่ใช้ในการจัดทำข้อกำหนดของกระบวนการทำงานมีด้วยกันหลายประเภท ซึ่งในการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานของกระบวนงานหลักห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาจะใช้วิธีการ SIPOC

ที่มา : เชิญโชค ศรขวัญ. (2558). เอกสารประกอบการฝึกอบรมโครงการพัฒนาบุคลากรข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค. นนทบุรี : สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ที่มา : เชิญโชค ศรขวัญ. (2558). เอกสารประกอบการฝึกอบรมโครงการพัฒนาบุคลากรข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค. นนทบุรี : สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

SIPOC Model เป็นกรอบแนวคิดที่ใช้ในการอธิบายสายโซ่ความสัมพันธ์ของกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบของแต่ละกระบวนการทำงาน ได้แก่ ผู้ส่งมอบปัจจัยนำเข้า หรือ Supplier (S) หมายถึง บุคคลหรือองค์กรที่ส่งปัจจัยนำเข้าให้กับหน่วยงานในการทำงาน นำส่งปัจจัยนำเข้า หรือ Input (I) ได้แก่ ทรัพยากรต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนการ เช่น คน วัสดุ อุปกรณ์ ข้อมูล เงิน นโยบาย กฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าสู่แต่ละขั้นตอนของกระบวนการทำงาน หรือ Process (P) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกัน เพื่อจุดมุ่งหมายในการส่งมอบผลิตภัณฑ์หรือบริการให้แก่ลูกค้า หรือผู้รับบริการ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อผลิตให้เป็นสินค้าหรือบริการ หรือ Output (O) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าหรือผู้รับบริการ แล้วส่งมอบให้ลูกค้าหรือผู้รับบริการ หรือ Customer (C) ซึ่งหมายถึง ผู้ใช้สินค้าหรือผู้รับบริการที่มารับบริการทั้งโดยตรงหรือผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ
การจัดทำกระบวนการทำงานใน SIPOC Model จะต้องระบุสิ่งต่าง ๆ ได้แก่ Stakeholder, Input, Process, Output, Customers, Stakeholder Requirement, Input Specification, Process Specification, Output Specification และ Customer Requirement โดยองค์กรต้องกำหนด KPI ในการทำงานแต่ละกระบวนการไว้ เพื่อเป็นมาตรฐานหรือข้อกำหนดในการปฏิบัติ อีกทั้งต้องมีการปรับปรุงกระบวนการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นด้วย
ในร่างมาตรฐานการปฏิบัติงานของกระบวนงานหลักห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา มีกระบวนการหลัก 2 กระบวนการ ได้แก่ กระบวนการจัดการทรัพยากรสารสนเทศ และกระบวนการให้บริการของห้องสมุด ในแต่ละกระบวนการหลักจะมีกระบวนการย่อย ๆ เป็นชั้น ๆ อีกหลายกระบวนการ
ขอยกตัวอย่าง กระบวนการซ่อมบำรุงรักษาหนังสือ ซึ่งเป็นกระบวนการที่อยู่ภายใต้กระบวนการซ่อมบำรุงรักษา คัดออกและจำหน่ายออกหนังสือ โดยกระบวนการซ่อมบำรุงรักษา คัดออกและจำหน่ายออกหนังสือ อยู่ภายใต้กระบวนการบำรุงรักษาและจำหน่ายออกทรัพยากรสารสนเทศ ซึ่งกระบวนการบำรุงรักษาและจำหน่ายออกทรัพยากรสารสนเทศ อยู่ภายใต้กระบวนการหลักคือ กระบวนการจัดการทรัพยากรสารสนเทศ ซึ่งกระบวนการซ่อมบำรุงรักษาหนังสือมีดังนี้
Stakeholder หรือ Supplier หรือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการซ่อมบำรุงรักษาหนังสือ ได้แก่ ผู้บริหารห้องสมุด ผู้ปฏิบัติงานบริการ และผู้ใช้บริการ
Input หรือปัจจัยนำเข้า มีด้วยกัน 8 ประการ เช่น นโยบาย หนังสือที่สมควรได้รับการซ่อม เครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากรในการซ่อม คู่มือการปฏิบัติงาน เป็นต้น
Process หรือกระบวนการในการปฏิบัติงานซ่อมบำรุงรักษาหนังสือ มีด้วยกัน 6 ขั้นตอน
Output หรือผลผลิตที่ได้ คือ หนังสือที่ผ่านกระบวนการซ่อมบำรุงรักษา
Customer หรือ ลูกค้า คือ ผู้ใช้บริการ
Stakeholder requirement หรือ Stakeholder Need หรือความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ บำรุงรักษาหรือซ่อมตามนโยบายพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ และความรวดเร็วในการบำรุงรักษาหรือซ่อมหนังสือ
Input Specification หรือคุณลักษณะของปัจจัยนำเข้า มีด้วยกัน 8 ประเภท เช่น ผู้ปฏิบัติงานซ่อมทรัพยการสารสนเทศมีความรู้และสมรรถนะตรงกับหน้าที่ที่รับผิดชอบ เครื่องมือและอุปกรณ์ในการซ่อมพร้อมใช้งาน เป็นต้น
Process Specification หรือ Process Step & Requirement หรือ คุณลักษณะของกระบวนการหรือเงื่อนไขของขั้นตอน มีด้วยกัน 6 ขั้นตอน
Output Specification หรือคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ได้แก่ หนังสือที่ผ่านกระบวนการซ่อมบำรุงรักษานำออกบริการอย่างรวดเร็ว
Customer Requirement หรือ Customer Need หรือ ความต้องการของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ได้แก่ หนังสืออยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมบริการ และได้รับหนังสือที่ส่งบำรุงรักษาหรือซ่อมทันเวลา
กระบวนการซ่อมบำรุงรักษาหนังสือดังกล่าว ได้กำหนด KPIs (Key Performance Indicators) ในการปฏิบัติงานแต่ละกระบวนการไว้สำหรับเป็นเครื่องมือวัดผลหรือประเมินผลการดำเนินงานในรูปเชิงปริมาณเพื่อสะท้อนประสิทธิผลในการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กรหรือไม่ เช่น ระยะเวลาเฉลี่ยในการซ่อมบำรุงรักษาตั้งแต่ได้รับตัวเล่มหนังสือส่งซ่อมจากงานบริการจนถึงนำออกบริการ (วัน : เล่ม) ระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการต่อกระบวนการซ่อมบำรุงรักษาหนังสือ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ความสำเร็จของทุกกระบวนการทำงาน จะส่งผลให้เกิดความสำเร็จของระบบงาน ความสำเร็จของทุกระบบงานจะส่งผลให้เกิดความสำเร็จของการปฏิบัติการขององค์กร ดังนั้น ในการจัดกระบวนการทำงานต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมุ่งเน้นที่การลดต้นทุน การลดรอบเวลาทำงาน มีความคล่องตัว มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป หรือมีความสามารถในการให้บริการที่หลากหลายตามความต้องการของลูกค้า รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ยังต้องสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ ตลอดจนมีการประเมินความพึงพอใจของลูกค้าเพื่อนำมาแก้ไขและปรับปรุงการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น  😳

 บรรณานุกรม

เชิญโชค ศรขวัญ. (2558). เอกสารประกอบการฝึกอบรมโครงการพัฒนาบุคลากรข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค. นนทบุรี : สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ. (2550). เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเพื่อองค์กรที่เป็นเลิศ ปี 2550. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ.
สิทธิศักดิ์ พฤกษ์ปิติกุล. (2555). บริหารเยี่ยม ผลลัพธ์ยอด ด้วย TQA. กรุงเทพฯ : สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ.

One thought on “ทำความรู้จักกับ "มาตรฐานการปฏิบัติงานของกระบวนงานหลักห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา"

  • ก่อนไปญี่ปุ่นได้อีเมล์จาก สนง.เลขา เรื่องนี้ ยังงงถึงปัจจุบัน แต่ไม่อยากงงคนเดียวเลย fw. ให้ในฝ่ายอ่าน เพราะจะได้งงแบบเท่าเทียมกัน ผลคืออ่านกันแล้วเกาหัวกันแกรกๆ ไม่รู้ของเราจะเริ่มใช้เมื่อไร ขนาดเรามี KPI ใช้กันมาหลายงวดแล้ว ไซป้อคมา น้อคค่ะน้อค

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร