Metadata…เรื่องใกล้ตัวบรรณารักษ์

ถ้าพูดถึง MARC บรรณารักษ์ส่วนใหญ่คงไม่ปฏิเสธว่า “ไม่รู้จัก” และแน่นอนว่าหากพูดถึงมาตรฐานการลงรายการที่เครื่องคอมพิวเตอร์อ่านได้ ก็จะบอกว่า MARC ที่มี Field หรือ Tag ในการลงรายการมากถึง 1,000 Tag … จำรายละเอียดได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ว่ากันไปตามความสามารถในการศึกษาและจดจำของแต่ละคน
แต่หากพูดถึง Metadata (เมทาดาทา) หลายคนอาจบอกว่าเคยได้ยิน แต่ไม่รู้เอาไว้ทำอะไร … หลายคนอาจจะบอกว่า รู้จักดีเลยทีเดียว หรืออีกหลายๆ คนอาจจะไม่เคยได้ยิน ไม่เคยรู้จักเลย…ก็เป็นได้
Metadata คืออะไร… คือข้อมูลที่บรรยายทรัพยากร หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัตถุ (Object) เกิดจากการที่เทคโนโลยีเว็บเกิดขึ้น ทำให้สารสนเทศในระบบเครือข่ายมีเป็นจำนวนมาก ยากต่อการจัดเก็บ และสืบค้น โดยที่ Metadata จะเป็นการบรรยายหรือพรรณนาวัตถุสารสนเทศอย่างมีโครงสร้าง และกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน บอกตำแหน่งของวัตถุสารสนเทศ ทำให้ง่ายในการค้นคืน
นอกจากนี้ Metadata ยังทำให้เพิ่มความสามารถในการเข้าถึง ช่วยระบุบริบทอื่นๆ ที่สำคัญของวัตถุสารสนเทศ ช่วยขยายขอบเขตการใช้สารสนเทศ สามารถจัดการวัตถุสารสนเทศที่มีหลายเวอร์ชั่นได้ชัดเจน ทำให้สามารถใช้งานทรัพยากรสารสนเทศต่างระบบร่วมกันได้ ทั้งในส่วนของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ โดยการใช้แบบแผนเมทาดาทาและโปรโตคอลเพื่อถ่ายโอนข้อมูลร่วมกัน รวมถึงการ Crosswalk
Metadata แบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ 1) Descriptive Metadata เป็น Metadata ใช้ในการพรรณนาแหล่งสารสนเทศหนึ่งๆ ด้วยวัตถุประสงค์หลายประการ  2) Structural Metadata เป็น Metadata ที่บ่งชี้วิธีประกอบรวมวัตถุสารสนเทศต่างๆ เข้าด้วยกัน และ  3) Administrative Metadata เป็น Metadata ที่ใช้เพื่อการบริหารจัดการแหล่งสารสนเทศ
Metadata ที่นำมาใช้งานในปัจจุบัน มีหลาย Metadata ขึ้นอยู่กับทรัพยากรสารสนเทศที่เราต้องการจัดการ/จัดเก็บ เช่น
MARC (Machine Readable Cataloging)
คือการลงรายการที่เครื่องสามารถอ่านได้ MARC ซึ่งเป็นมาตรฐานการลงรายการบรรณานุกรม และการแสดงรายการทางบรรณานุกรมที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้  ดังนั้น MARC ที่บรรณารักษ์รู้จักกันดีก็นับเป็น Metadata อย่างหนึ่ง
Dublin Core Metadata
เป็นเครื่องมือในการจัดการทรัพยากรสารสนเทศ ประกอบด้วย 15 หน่วยข้อมูลย่อย (Elements) สำหรับใช้พรรณนาสารสนเทศดิจิทัล และสามารถสืบค้นร่วมกันกับฐานข้อมูลต่างระบบ ดับลินคอร์ได้รับการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง หน่วยข้อมูลย่อยดับลินคอร์แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ เกี่ยวกับเนื้อหาของทรัพยากรสารสนเทศ เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา และเกี่ยวกับรูปแบบที่ปรากฏให้ใช้งาน
MODS (Metadata Object Description Schema)
เป็นแบบแผนการพรรณนาสารสนเทศดิจิทัล ให้อยู่ในรูปของข้อมูลที่มีโครงสร้างมาตรฐาน  MODS เป็นมาตรฐานที่พัฒนาโดย The Library of Congress Network Development and MARC Standard Office เพื่อให้เป็นแบบแผนที่สามารถทำงานต่างระบบได้ และทำให้เกิดความถูกต้องในผลการค้น MODS ใช้ syntax ของ XML language schema เป็นตัวกำหนดโครงสร้างการเข้ารูป element ต่างๆ ทำให้สามารถนำข้อมูลจากระเบียนรายการบรรณานุกรมสารสนเทศของห้องสมุดที่อยู่ในรูป MARC 21 มาแปลงให้เข้ากับระเบียนของ MODS และแปลงจากระเบียนของ MODS ให้อยู่รูประเบียนบรรณานุกรม MARC 21 ได้ด้วย
METS (Metadata Encoding and Transmission Standard)
เป็นมาตรฐานที่พัฒนาโดย The Library of Congress Network Development and MARC Standard Office เนื่องจาก MODS ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการพรรณนาวัตถุสารสนเทศเท่านั้น ส่วน METS เป็นมาตรฐานที่มีโครงสร้างแน่นอน แต่ยืดหยุ่น ออกแบบมาเพื่อกำกับและจัดการ Metadata ประเภทต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการบรรยาย และจัดการวัตถุสารสนเทศในรูปดิจิทัล รวมทั้งเหมาะสมที่สามารถรองรับและใช้กับ MODS ได้อย่างเหมาะสม
ISAD (G) (General International Standard Archival Description)
เป็นมาตรฐานคำอธิบายจดหมายเหตุระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำขึ้นโดย International Council on Archives หรือ ICA เป็นระบบที่ใช้ในการทำจดหมายเหตุอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้หน่วยงานที่จัดทำจดหมายเหตุมีการลงรายการข้อมูล หรือคำอธิบายต่างๆ ที่ตรงกัน
CDWA (Categories for the Description of Works of Art)
จัดทำโดย The Art Information Task Force หรือ AITF เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับงานศิลปะที่ใช้จัดการงานพิพิธภัณฑ์ เพื่ออธิบายข้อมูลของงานศิลปะ และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถจัดทำให้อยู่ในรูปแบบฐานข้อมูล หรือการเข้ารหัส XMLได้ เพื่อให้ข้อมูลสามารถใช้งานร่วมกันได้ เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน สามารถเข้าถึงได้ผ่านทางเครือข่าย
EXIF (Exchangeable Image File Format)
เป็นเมทาดาทาที่ให้ข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับรูปถ่าย พัฒนาขึ้นโดย The Japan Electronic Industry Development Association (JEIDA) โดยที่ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับภาพ จะถูกบรรจุลงในภาพที่ถ่ายโดยกล้องดิจิทัล โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของภาพถ่ายนั้นๆ
ที่กล่าวมาเป็น Metadata เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมี Metadata อื่นๆ อีกมากมายให้บรรณารักษ์อย่างเราๆ ศึกษาเรียนรู้ และมีรายละเอียดชวนให้ปวดหัวอีกมากมาย… เราในฐานะบรรณารักษ์คงต้องรู้จักไว้บ้างว่ามาตรฐานการลงรายการไม่ได้มีแต่ MARC เท่านั้น
———————————————————-
บรรณานุกรม
นันทพร ธนะกูลบริภัณฑ์ และ อำนาจ ธรรมกิจ.  (2549).  Metadata : คู่มือการใช้มาตรฐาน MODS

และ METS สำหรับการพรรณนาและจัดการสารสนเทศในห้องสมุดดิจิทัล.  นนทบุรี : สำนัก

บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

สุวันนา ทองสีสุขใส และคณะ.  (2556).  เมทาดาทาสำหรับวัสดุดิจิทัลประเภทสื่อโสตทัศน์. 

กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา.

STKS.  (ม.ป.ป.).  6 ลักษณะของเมทาดาทาที่ดี.  สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2558, จาก

http://stks.or.th/wiki/doku.php?id=metadata:goodmetadata&rev=1290047388

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร