ดอง

เมื่อวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกิจกรรมบุ๊คแฟร์ นักเรียนโรงเรียนวัดเขายี่สารฯ มาแสดงหุ่นสาย ทำให้ดิฉันคิดถึงหอยดองที่แวะซื้อตอนขากลับ เมื่อคราวที่ไปพิพิธภัณฑ์วัดเขายี่สาร กับคณาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์
เนื่องจากเป็นคนที่ชอบเรื่องภาษา จึงทำให้นึกๆ ถึงเรื่องต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
มีวันหนึ่งป้าข้างบ้านพูดว่า ยายของหลาน “เกี่ยวดอง” กับยายๆ ที่นั่งในวงสนทนา จึงตีความว่าหมายถึงหากญาติของเราแต่งงานกับอีกฝ่ายหนึ่ง ญาติของฝ่ายนั่นจะเป็น “ดอง” กัน
“ดอง” แบบนี้จะได้ยินทางอีสานที่บอกว่าไป “กินดอง” ซึ่งแปลว่าการแต่งงาน  ดิฉันจึงมาแซวน้องอ้อว่าว่า งั้นเธอกับฉันก็เป็น “ดอง” กัน เพราะญาติของเราทั้งสองฝ่ายแต่งงานกัน …. แว๊กกก ใครอยากเป็น 55 :mrgreen:
ตอนอยู่ญี่ปุ่นดิฉันมักทำอาหารไว้รับประทานเอง สิ่งที่ทำได้แก่ดองเปรี้ยว ดองเค็ม ดองหวาน และดองสามรส … รุ่นพี่ของดิฉันบอกว่าเมื่อตอนที่พี่เรียนต่างประเทศก็ชอบ “ดอง” ไข่เค็ม  ซึ่งดิฉันจะไม่นำคำว่า “ดอง” มาใช้กับไข่เค็ม  จะพูดว่า ทำไข่เค็ม เช่นเดียวกับไม่พูดว่า ขนมเค้กหนึ่งก้อน จะพูดว่าขนมเค้กหนึ่งชิ้น โดยขยายความว่าชิ้นเล็กๆ หรือบอกจำนวนปอนด์ เพราะความรู้สึกส่วนตัวเห็ว่าคำว่า “ก้อน” ไม่น่าใช้กับขนม 😳
นอกจากประเภทของ “ดอง” ที่แบ่งตามรสชาติแล้วยังมีขั้นกว่าของดองคือ หมักดอง สิ่งที่โปรดปรานของดิฉันคือ ข้าวหมาก ซึ่งดิฉันจะมีเพื่อนที่ทำมาให้รับทานทุกครั้งที่พบหน้ากัน ส่วนขั้นกว่าของหมักดองที่มีแอกอฮอร์มากขึ้นนั้นไม่ค่อยจะถูกจริต
จริงแล้วการดองเป็นวิธีการถนอมอาหารวิธีหนึ่ง ผู้เขียนนาม “ฮั้วจัง เจ้าค่ะ”  ได้อธิบายว่า การดองเป็นการใช้จุลินทรีย์บางชนิดที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยจุลินทร์ทรีย์นั้นจะสร้างสารบางอย่างขึ้นมาในอาหาร ซึ่งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ตัวอื่นๆได้ ดังนั้นผลของการหมักดองจะทำให้อาหารปลอดภัยจากจุลินทร์ทรีย์ชนิดอื่นๆ และยังทำให้เกิดอาหารชนิดใหม่ๆที่มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม เป็นการเพิ่มกลิ่น และรสชาติของอาหารให้แปลกออกไป … อ่านต่อได้ที่ http://signuphowto.blogspot.com/2012/02/blog-post_24.html
เนื่องจากการดองเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ในทางวิทยาศาสตร์สามารถระบุว่าใช้น้ำ น้ำตาล น้ำส้ม หรืออะไรไร จำนวนเท่าไร และมีสัดส่วนผันแปรกันอย่างไร
ส่วนดิฉันตั้งตัวเป็น “จังกรึม” เวลาทำอาหารมักใช้วิธี “กะ” ส่วนแม่ดิฉันใช้ศัพท์ยากกว่าคือ “คะเน” สัดส่วนในการตวงวัดเวลาทำครัวของดิฉันคือ น้ำตาลปี๊บเท่าปลายก้อย กะปิเท่าหัวแม่มือ น้ำตาลทรายปลายช้อน เกลือหยืบมือ ใส่น้ำท่วมหลังมือ กระดูกหมูพอคำ อะไรประมาณนี้
ดิฉันมองว่าเรื่องพวกนี้เป็นประสบการณ์ที่สะสมที่เกิดจากการลงมือกระทำ การทดลองผิด ทดลองถูก ที่คนรุ่นหนึ่งถ่ายทอดไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง นั่นหมายความคนรุ่นหลังเมื่อฟังคนรุ่นปัจจุบันบอกเล่า ก็ต้องกลับไปลงมือกระทำ การทดลองผิด ทดลองถูกเช่นเดียวกัน
เรื่องแบบนี้พูดให้เหมาะกับองค์กรคือ เป็นเรื่องของการจัดการความรู้  ที่ต้องเป็นวัฏจักรหมุนเวียนพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะคำว่าความรู้นั้นกว้างไกล และปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ
เนื่องจากการ “ดอง” ต้องใช้เวลา เพราะเวลาที่ได้ที่พอดิบพอดี จะทำให้รสชาติ “อร่อย” ดิฉันมัก “กะ” เวลาเสมอว่าประสงค์จะรับทานผักดองตอนวันไหน และลงมือทำเอง เพราะคนอื่นทำก็ไม่ถูกปากเท่ารสมือเรา เรียกว่าต้องมีเจตนา หากเวลาพอดีก็จะอร่อย หากเวลาน้อยไปก็จะไม่ได้ที่ หากเวลามากไปก้อจะเสีย
ดังนั้นเวลาไปรับทานอาหารนอกบ้านที่สมัยนี้มักมีผักดองมาเป็นเครื่องเคียง ดิฉันจะโปรดมากที่สุด และขัดเคืองทุกครั้งหากลิ้มรสแล้วพบว่าเปรี้ยวเข็ดฟัน ! ด้วยเพราะใช้เวลานานเกินไป หรือปรุงรสไม่ได้ที่
เนื่องจากภาษามีหลายความหมาย ดังนั้น “ดอง” จึงเป็นคำที่เสียดแทงใจมากที่สุดคือความหมายที่บอกว่า เก็บหมักไว้นานเกินควร 
ในพจนานุกรมเขียนอย่างไพเราะและยกตัวอย่างว่าโดยปริยายหมายความว่า เก็บหมกไว้นานเกินควร เช่น เอาหนังสือไปดองไว้
 
แต่คำว่า “นาน” นั้น ตีความโดยใคร เช่น เวลาหนึ่งนาที หากเราเป็นผู้ต้องก๊ารต้องการของที่ดอง ก็แปลว่า “ตั้ง” 60 วินาที ส่วนผู้ที่มีข้อหาว่าดองจะบอกว่า แหม “แค่” 60 วินาที เอ้ง!!!
สรุปคือคำว่า “ตั้ง” และ “แค่” นั้นไม่ค่อยจะสมานสามัคคีกัน ในการทำงานจึงต้องคิด และคิด ที่สมัยนี้ชอบพูดว่า หาข้อตกลงเพื่อหาตรง “กลาง” ถามได้ และพยายามหาคำตอบให้ได้
เวลาหาคำตอบก็ต้องอ่านเอกสารวิชาการ และพบว่าเรื่องการบริหารเวลาต้องใช้เครื่องมือต่างๆ อาทิเช่น  TQM, Strategic planning, SWOT analysis  และ Balanced Scorecard เห็นแล้วมึนหัวเพราะตัวอักษรเกือบครบ A-Z  ….
ว่าแล้วก็หันไปหยิบหนังสือ Key New ดีกว่า

One thought on “ดอง

  • แล้วถ้ามีเอกสารอยู่ซัก 4 ซ้า 5 เล่ม เล่มละซักประมาณ 50 หน้า up ใส่ไหไว้ประมาณซักเดือนกว่าๆ ระหว่างนั้นก็ชิมไปปรุงไปทีละบรรทัดเนี่ย มันเป็นนานประเภทไหนล่ะท่าน (ตั้ง หรือ แค่ หรือ ดอง) แล้วมันพอดี มันอร่อย หรือว่ามันขม หรือว่ามันเน่าไปเลย

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร