นักเขียนนิยายปลอมพงศาวดาร

“นวนิยาย”หรือ“นิยาย” นั้นเป็นหนังสือสำหรับอ่านเพื่อความบันเทิงเริงใจ คลายความเครียดได้ดีชนิดหนึ่ง ในห้องสมุดแทบทุกแห่งจะขาดหนังสือประเภทนี้มิได้เลยต้องจัดหามาไว้ให้บริการแก่ผู้ใช้ได้หยิบยืมอ่าน นวนิยายเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นจากจินตนาการของผู้แต่งหรือผู้ประพันธ์ด้วยกลวีธีลีลาและสำนวนของแต่ละคน มีหลากหลายแนวให้ได้เลือกอ่าน บางเรื่องก็ได้เค้าโครงมาจากเรื่องจริง จึงมีคำที่ว่าเรื่องจริงอิงนิยายเกิดขึ้น บางเรื่องก็อิงประวัติศาสตร์หรืออิงพงศาวดาร ในครั้งนี้ดิฉันขอนำเสนอเรื่องของการเขียนนวนิยายที่อิงพงศาวดารกับนักประพันธ์นามอุโฆษในแวดวงวรรณกรรมไทยของเราท่านหนึ่ง ทั้งนามปากกาและชื่อนวนิยายที่ท่านประพันธ์รังสรรค์สร้างขึ้นมาในบรรณพิภพนั้นยังเป็นอมตะอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ แม้ว่าตัวท่านจะจากโลกนี้ไปนานแล้วก็ตาม นักประพันธ์ท่านนั้นคือ “ยาขอบ” หรือนามจริงว่า โชติ แพร่พันธุ์ และนวนิยายที่เป็นผลงานอมตะตลอดกาลและถือเป็นผลงานชิ้นเอกของท่านคือเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” ซึ่งมีตัวเอกของเรื่องเป็นทั้งนักรบและนักรักหนุ่มนามว่า “จะเด็ด” ที่สามารถเด็ดดอกฟ้ามาครอบครองได้ทั้งตะละแม่จันทราราชธิดาของเมืองตองอู และตะละแม่กุสุมาพระธิดาแห่งเมืองแปร จนเกิดวาทะเด็ดของเรื่องที่ผู้อ่านจดจำได้ไม่รู้ลืมว่า “ข้าพเจ้ารักจันทราด้วยใจภักดิ์ แต่รักกุสุมาด้วยใจปอง” เป็นไงคะคารมคมคำที่พริ้วไหวขนาดนี้ของท่าน“ยาขอบ”ผู้ประพันธ์ออกมาบรรณาการแก่ผู้อ่านให้ติดตรึงใจจนบัดนี้  แล้วผู้ที่เป็นดั่ง“ผู้ชนะสิบทิศ”ตัวจริงในเรื่องราวนี้นั่นก็คือ พระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดี ของพม่า
“ยาขอบ” หรือ โชติ แพร่พันธุ์ เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2450 และเสียชีวิตในปีพ.ศ. 2499 ชีวิตในวัยเด็กของท่านนั้นต้องระหกระเหิน ลุ่มๆดอนๆมาโดยตลอดแม้กระทั่งเข้าสู่วัยทำงานก็ตาม ผ่านการประกอบอาชีพมาหลากหลายกว่าจะได้มาเป็นนักเขียนชื่อกระฉ่อน ท่านเป็นนักเขียนร่วมรุ่นกับ “ศรีบูรพา”หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และมาลัย ชูพินิจ หรือ”เรียมเอง”  แล้วนามปากกา “ยาขอบ” นี้ผู้ที่ตั้งให้ก็คือ กุหลาบ สายประดิษฐ์(ศรีบูรพา) เจ้าของหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ที่รับ”ยาขอบ”ไปร่วมงานด้วย เพราะคราวหนึ่งยาขอบต้องเขียนเรื่องตลกแทน “ฮิวเมอริสต์” นักเขียนเรื่องตลกประจำหนังสือพิมพ์นี้ที่มิได้ส่งต้นฉบับมาให้ ด้วยความที่เห็นว่ายาขอบเป็นคนมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ  “ยาขอบ” นั้นเป็นนามปากกาที่เลียนแบบมาจากนักเขียนเรื่องตลกชาวอังกฤษที่ชื่อว่า เจ.ดับบลิว.ยาค็อบ  ผลงานแรกที่ใช้นามปากกา “ยาขอบ” เขียนคือเรื่อง “จดหมายเจ้าแก้ว”  ต่อจากนั้นจึงเริ่มเขียน อมตะนิยายที่เป็นการปลอมพงศาวดารในเรื่อง “ยอดขุนพล” โดยได้แรงบันดาลใจจากการอ่านพงศาวดารของพม่าเพียง 8 บรรทัดนำมาเป็นเค้าโครงเรื่อง ต่อมาภายหลัง มาลัย ชูพินิจ ได้เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น “ผู้ชนะสิบทิศ” อมตะนิยายปลอมพงศาวดารเรืองนี้เริ่มเขียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 และเขียนมาจนถึงปีพ.ศ. 2476 จึงยุติการเขียนไว้ชั่วคราวเพื่อหาข้อมูลบางประการ แล้วก็ไม่มีโอกาสได้เขียนต่ออีกเลย
ดังนั้นนวนิยายเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” จึงยังไม่จบบริบูรณ์ เนื่องจากผู้ประพันธ์คือ “ยาขอบ” เสียชีวิตไปเสียก่อน ถึงแม้ว่าอมตะนิยายเรื่องนี้จะไม่จบสมบูรณ์ก็ตาม แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องยาวนานมิเสื่อมคลาย ถูกจัดพิมพ์ ถูกนำไปทำทั้งละครวิทยุและละครโทรทัศน์ ลิเก สร้างเป็นภาพยนตร์ ดัดแปลงเป็นละครเวทีมาแล้วหลายครั้งหลายครา  แล้วยังดัดแปลงเป็นละครพันทางโดยกรมศิลปากรในยุคของอาจารย์เสรี หวังในธรรม แสดงที่โรงละครแห่งชาติต่อเนื่องกันนานหลายปีซึ่งได้รับความนิยมชมชอบจากผู้ชมอย่างมากมายเช่นกัน  นอกจากนี้ยังได้มีการทำบทเพลงประกอบละครและภาพยนตร์ในเรื่อง“ผู้ชนะสิบทิศ” ไว้อีกนับสิบเพลงอย่างไพเราะเพราะพริ้งติดตรึงใจของผู้ฟังมาตราบจนทุกวันนี้อีกด้วย เป็นบทเพลงที่เรารู้จักและรับฟังกันอย่างคุ้นเคยหู เช่น เพลงผู้ชนะสิบทิศ บุเรงนองลั่นกลองรบ  ยอดพธูเมืองแปร กุสุมาอธิษฐาน กันทิมาอาภัพ นันทวดีพลาดรัก เนงบาผู้ปราชัย เป็นต้น (นักฟังเพลงรุ่นป้าๆ ต้องเคยฟังกันแน่นอน!!)ลองไปหาฟังในยูทูบเหอะมีให้ฟังแน่ๆ
คราวนี้จะขอเล่าถึงเกร็ดชีวิตของ “ยาขอบ” ในบางเรื่องสักเล็กน้อย ความจริง “ยาขอบ” มีเชื้อสายของเจ้าเมืองแพร่สกุลเทพวงศ์ รุ่นสุดท้าย เคยอาศัยอยู่ในรั้วในวังที่กรุงเทพฯมาหลายที่ เคยเรียนที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ แต่ต้องออกจากโรงเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ปี 2465) เพราะมีเรื่องบาดหมางกับครู ถนิม เลาหะวิไล ในวันหนึ่งครูได้ตั้งคำถามแก่นักเรียนว่า “ธรรมะคืออะไร” นักเรียนร่วมชั้นคนอื่นๆก็ตอบกันตามที่เข้าใจ แต่“ยาขอบ”กลับตอบไปว่า “ธรรมะคือคุณากร …!!” จึงถูกครูดุว่าแต่”ยาขอบ”ก็โต้เถียงกับครูแถมเอาหมวกครูมากระทืบอีกด้วย จึงต้องออกจากการเรียนด้วยประการฉะนี้.. แต่ภายหลังเขาก็ได้ครูคนนี้เป็นผู้ฝากเข้าทำงานในแวดวงหนังสือพิมพ์ ส่วนในด้านงานประพันธ์ของเขานั้นเขาจะพิถีพิถันละเอียดละออในข้อมูลที่นำมาเขียนไม่ว่าเรื่องใด จะไม่เขียนออกมาแบบสุกเอาเผากินเป็นอันขาด แล้วก็จะใช้กระดาษสีชมพูเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงินเสมอเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว มุมกระดาษทุกแผ่นต้องมีชื่อ“ยาขอบ”กำกับไว้  “ยาขอบ” เป็นคนเจ้าชู้มีภรรยาหลายคนและภรรยาคนแรกของเขาชื่อ “จรัส “ เป็นน้องสาวเจ้าของห้างขายยาเพ็ญภาค ที่เขาเคยไปทำงานอยู่ด้วยระยะหนึ่ง เขามีบุตรชายกับภรรยาคนแรกนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น คือ “มานะ แพร่พันธุ์” อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บ้านเมือง  “ยาขอบ” เป็นคนที่ชอบดื่มสุราและสูบบุหรี่จัด ทำให้ร่างกายเขาทรุดโทรมเร็วและถึงแก่กรรมด้วยโรคพิษสุราเรื้อรังด้วยวัยเพียง 48 ปีเศษเท่านั้น
นี่คือเรื่องราวโดยสังเขปของนักประพันธ์นามกระเดื่องกับนิยายปลอมพงศาวดารอันลือเลื่อง ที่จัดเป็นอมตะนิยายของไทยเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์อิงพงศาวดารของพม่าที่ผู้ประพันธ์ใช้จินตนาการสร้างสรรค์ตัวละครและชั้นเชิงการดำเนินเรื่องได้อย่างมีอรรถรสน่าติดตามอย่างมิรู้เบื่อ “ผู้ชนะสิบทิศ” ถูกพิมพ์รวมเล่มออกมาจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2482 และยังมีการจัดพิมพ์ออกมาจำหน่ายอีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน ที่หอสมุดของเรามีฉบับปีพิมพ์ล่าสุดคือปี 2551 รวมสองเล่มจบซึ่งมีความหนาพอสมควรทีเดียว (ในการพิมพ์ครั้งแรกๆแบ่งเป็น 8 เล่มจบ) นอกจากเรื่องผู้ชนะสิบทิศแล้ว ยังมีผลงานอื่นๆอีกหลายเรื่อง เช่น สามก๊กฉบับวณิพก มหาภาระตะ บุปผาในกุณฑีทอง สินในหมึก เป็นต้น หาอ่านได้จากห้องสมุดค่ะ
ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือเรื่อง อ่านแล้ว อ่านเล่า ของ ศรีดาวเรือง, และจาก www. debsirin.ac.th

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร