การแสดงพื้นบ้านละครเมืองเพชร

ละครชาตรีเมืองเพชร ถือเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านอย่างหนึ่งของคนเพชรบุรี ที่ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ที่คนเพชรบุรีมีความภูมิใจ มีลักษณะ
1. การโหมโรง คือ การบรรเลงดนตรีเพื่อเรียกร้องให้คนรู้ว่ากำลังมีงานที่ใด ถ้าเล่นเป็นละครชาตรีแก้บนตอนกลางวันก็จะใช้ตีกลองชาตรี (กลองตุ๊ก) เป็นเสียงตุ้มๆ ๆ ๆ ต้อมๆ ๆ ๆ จนถึงเวลาแสดงแล้วชะงักกลองเป็นครั้งสุดท้ายอีกทีหนึ่ง ะและขั้นตอนการแสดง
2. การรำถวายมือ เป็นการรำบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และครูบาอาจารย์ที่ได้อบรมสั่งสอนมา และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ละครทุกตัวจะออกมารำถวายมือ ปัจจุบันใช้เพียง ๔ คน ถ้าเป็นละครชาตรีแก้บน ผู้แสดงจะออกมานั่งคุกเข่าแบบละครที่กลางโรง พอเรียบร้อยนักดนตรีจะหยุดและขึ้นเพลงทำนองใดทำนองหนึ่งซึ่งทราบกันโดยอาศัย ความเคยชิน (แต่ในอดีตนิยมใช้เพลงทำนอง “เชื้อ” เพียงเพลงเดียวเท่านั้น) ตัวพระที่เป็นต้นเสียงจะร้องเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เจ้าภาพแจ้งให้ทราบแล้วตั้งแต่ก่อนลงโรง (โหมโรง)เมื่อร้องมาถึงตอนนี้ผู้แสดงทั้งหมดก็จะเริ่ม “รำถวายมือ” คือ การรำท่ารำแม่ท่าของละคร ประกอบด้วยท่ารำในเพลงช้า เพลงเร็ว และเพลงลา โดยผู้รำจะตัดมาเพียงเพลงละไม่กี่ท่าเพื่อไม่ให้ยืดยาว เพราะยังมีขั้นตอนอื่น ๆ ตามมาอีก เมื่อรำจบกระบวนท่าของรำถวายมือแล้ว ตัวละครจะหายเข้าโรงไป คราวนี้ก็จะมีการร้อง “กาศครู” หรือ “ประกาศโรง” เป็นการร้องโดยใช้ทำนองเดียวกับที่พวกมโนห์ราร้อง พอร้องจบ ตัว “นายโรง” (ตัวพระ) จะออกมารำ “ซัดชาตรีไหว้ครู” แต่เดิมจริง ๆ นั้น ใช้ผู้แสดงเกินกว่า ๑ คน แต่ปัจจุบันใช้เพียงคนเดียว และหาดูได้ยาก เมื่อรำซัดชาตรีไหว้ครูจบแล้ว ก็เดินเข้าโรงไประหว่างที่รำอยู่นั้น จะมีพิธีการประกอบอยู่ด้วย ซึ่งเรียกกันง่ายๆ ว่า“ทับที่” จากนั้นก็มีการบริกรรมคาถาป้องกันการกระทำย่ำยีจากผู้ไม่ปรารถนาดี มีการขอที่ธรณีสงฆ์ (หากแสดงในบริเวณวัด)และร่ายคาถากำหนดสี่มุมโรง เพื่อป้องกันคุณไสยที่ถูกปล่อยมาทำร้ายคนในคณะ จากนั้นจึงเริ่มจับเรื่อง(เริ่มแสดง)
3. การแสดงเมื่อรำซัดเสร็จ ผู้รำก็จะมานั่งที่เตียงและเริ่มดำเนินเรื่อง การแสดงจะดำเนินเรื่องไปเรื่อย ๆ จนถึงเวลา ๑๒.๐๐ น.และจะหยุดพักให้ตัวละครรับประทานอาหารกลางวันก่อน พอเวลา ๑๓.๐๐ น.ก็จะเริ่มการแสดงต่อจนถึงเวลาเย็น ๑๖.๐๐ น.จึงจะเลิกการแสดงแม้เรื่องจะยังไม่จบ ถ้าแสดงตอนกลางคืนจะเริ่มเวลา ๒๐.๐๐ น.หรือ ๒๑.๐๐ น.จนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น.การแสดงละครชาตรีเมืองเพชร ขณะที่ผู้แสดงนั่งที่เตียง เจ้าของคณะจะเป็นผู้บอกบทนำโดยไม่ต้องดูบท ผู้แสดงจะร้องเอง ๑ วรรค และมีลูกคู่รับ เช่นนี้ตลอดไป เมื่อผู้แสดงร้องและรำไปจบตอนหนึ่งแล้วจะมีการหยุดให้เจรจาเพื่อแนะนำตัวเองและเล่าเหตุการณ์ตามบทบาทของตนเอง เมื่อแสดงจนจบบทของตนแล้วก็นั่งลงข้างเตียงแล้วตัวอื่นก็ลุกขึ้นแสดงต่อไป ผู้ที่พัก การแสดงจะทำหน้าที่ลูกคู่ร้องรับต่อไป ผู้แสดงจะต้องร้องเอง เจรจาเอง และออกมุขตลกเองจะนอกเรื่องบ้างก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับไหวพริบและความสามารถของผู้แสดง
4. ฉาก ส่วนใหญ่การแสดงละครชาตรีที่ใช้ในการแก้บนจะไม่มีฉาก แต่ถ้าแสดงในงานวัดหรือที่ไม่ใช่การแก้บน จะใช้ฉากแต่ก็มีไม่มากเพียง ๒ ฉากเท่านั้น คือ ฉากท้องพระโรงและฉากป่า หรือให้เหมาะกับเนื้อเรื่อง สมัยก่อนไม่มีฉาก แสดงตามที่โล่ง ๆ มีเพียงเตียงนั่งตรงกลางบริเวณโรงละคร (อาจเป็นศาลากลางวัดหลังหนึ่ง)และมีม้ายาวสูงกว่าเตียงเล็กน้อยสำหรับวางศีรษะพ่อแก่ หรือศีรษะฤาษี,ชฎา,มงกุฏ กระบังหน้า และหัวโขนเบ็ดเตล็ดที่ใช้ในการแสดง
5. การแต่งกาย ละครชาตรีเมืองเพชรบุรี นิยมเล่นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เช่น สังข์ทอง,ไชยเชษฐ์ ฯลฯ นานๆ จะได้เห็นบางคณะแสดงเรื่องพระอภัยมณี,ลักษณาวงศ์,ขุนช้างขุนแผน สักครั้งหนึ่ง ผู้ที่แสดงเป็นตัวพระ เป็นตัวนางจะแต่งเครื่องใหญ่ทั้งหมด ตัวฤาษี,ตัวยักษ์ ก็จะสวมหัวฤาษีหรือหัวยักษ์ ตัวเสนาจะนุ่งผ้าโจงกระเบน ไม่ใส่เครื่องประดับตกแต่ง สำหรับตัวละครที่เป็นสัตว์ก็จะสวมหัวสัตว์นั้น ๆ ปัจจุบันการแต่งกายมักนิยมเอาเครื่องแต่งกายของลิเกมาผสม ถ้าแสดงแบบละครไทย เช่น นางตลกจะแต่งกายแบบง่ายๆ คือ เอาผ้าถุงมาทำเป็นกระโปรงบานรูด บางทีก็แต่งกายชุดไทยสไบเฉียงแล้วแต่ความเหมาะสม
6. เพลงที่ใช้ประกอบการแสดง จะเป็นเพลงที่ร้องง่าย ๆ ไม่คำนึงถึงอารมณ์ของเพลงเท่าใดนัก เพราะตัวละครจะต้องร้องเอง ดังนั้นจึงเลือกเพลงที่หัดง่าย เช่น เพลงร่าย,ช้าปี่,นาง นาค ขึ้นพลับพลา,โทน,ช้างประสานงา,เชิด,เสนอ,ลา,โลม,โอด เป็นต้น
7. ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ถ้าเป็นละครเล่นแก้บนตามลานวัด ไม่มีโรง เครื่องดนตรีจะมีน้อยชิ้น เช่น โทน,กลองทัด,กลองชาตรี(กลองตุ๊ก),โหม่ง,กรับ,ฉิ่ง บางครั้งอาจมีระนาดเอกเพิ่มด้วย และบางครั้งก็มีเครื่องดนตรีเพียง ๒ ชิ้น คือ กลองตุ๊ก และกรับเท่านั้น แล้วแต่ว่าเราจะเป็นโรงเล็กหรือโรงใหญ่ ถ้าเป็นละครที่ไปเล่นตามงานเครื่องดนตรีจะเพิ่มขึ้น ดังนี้ ระนาดเอก,ระนาคทุ้ม,ฆ้องวง,ตะโพน,กลองแขก,ฉาบ และปี่
8. บทละครชาตรีเมืองเพชรบุรี ส่วนใหญ่เป็นบทละครที่พิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ มีหลายเล่มต่อ ๑ เรื่อง ที่นิยมบทละครของสำนักวัดเกาะ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ บางคณะก็เอาบทพระราชนิพนธ์ละครนอก ๖ เรื่องของรัชกาลที่ ๒ มาแสดง
9. โอกาสที่ใช้ในการแสดง ละครชาตรีเมืองเพชรปัจจุบันส่วนใหญ่จะแสดงในงานแก้สินบน นอกจากนั้นก็มีแสดงในงานประจำปีของจังหวัด งานวัด งานบวช งานโกนจุก และงานมงคลต่าง ๆ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร