พระพุทธศาสนาในประเทศไทย : เอกภาพในความหลากหลาย

21 November 2014
Posted by Aree Piyarattanawat

พุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นมีความหลากหลายมาเป็นเวลาช้านาน อันเป็นธรรมดาของยุคก่อนสมัยใหม่ เพราะมีที่มาจากหลายกระแส แม้จะเป็น “เถรวาท” เหมือนกันแต่ก็มีแบบแผนความเชื่อ และการปฏิบัติแตกต่างกันออกไป กระทั่งเถรวาทแบบ “ลังกาวงศ์” หรือ เถรวาทที่มาจากลังกา ซึ่งมีอิทธิพลต่อพุทธศาสนาในไทยมาหลายศตวรรษ ก็หาได้มีความเป็นที่หนึ่งเดียวกันไม่ เพราะในลังกาเองนั้นมีหลายนิกาย ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าตนเป็น “พุทธแท้” หรือปฏิบัติตรงตามพุทธวจนะมากกว่า
ดังนั้นเมื่อแพร่มายังแผ่นดินที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 จึงย่อมมีการแบ่งเป็นสายเป็นนิกายที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ยังไม่นับพุทธศาสนาที่แพร่เข้ามาก่อนแล้วอย่างต่อเนื่อง นับแต่พุทธศตวรรษที่ 4 โดยมีการปรับเปลี่ยนตามบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ที่แตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น จึงไม่น่าแปลกใจที่แค่เมืองเดียวก็มีพระหลาย “นิกาย” แล้ว ดังเช่น เมืองเชียงใหม่ เมืองร้อยปีก่อนมีพระถึง 18 นิกาย (หรือสายการปฏิบัติที่สืบต่อจากครูบาอาจารย์ หรืออุปัชฌาย์เดียวกัน) ความพยายามที่จะทำให้พุทธศาสนาในไทยมี “มาตรฐาน” เดียวกันนั้น เพิ่งมีในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเริ่มจากการพยายามทำให้พระสงฆ์มีความเป็นเอกภาพภายใต้องค์กรปกครองสงฆ์เดียวกัน (คือ มหาเถรสมาคม) และมีการศึกษาพระธรรมวินัยภายใต้ระบบเดียวกัน ซึ่งจะพัฒนา และกำกับโดยพระอนุชา คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อำนาจของส่วนกลางที่แผ่ออกไปทั่วประเทศภายหลังการปฏิรูปการปกครองประเทศในสมัยนั้น ทำให้พระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรมีแบบแผนความเชื่อ และการปฏิบัติอย่างเดียวกันมากขึ้น เกิดพุทธศาสนาแบบ “ทางการ” ซึ่งได้กลายเป็นกระแสหลักในประเทศไทยนับแต่นั้นมา โดยเฉพาะในเขตเมือง แต่ก็มิได้หมายความว่าพุทธศาสนาจะมีแค่แบบเดียว
ส่วนที่แตกต่างจากกระแสหลักก็ยังมีอยู่ แต่ไม่แสดงตัวโดดเด่น ครั้นมาถึงยุคปัจจุบัน ความหลากหลายของพุทธศาสนาในเมืองไทยได้กลับมาปรากฎให้เห็นชัดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะองค์พระสงฆ์ไม่สามารถควบคุมให้เป็นเอกภาพได้ไม่ว่าจะโดยผ่านระบบการปกครอง หรือการศึกษาอีกทั้งรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจกับเรื่องนี้ อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ อิทธิพลจากสังคมวัฒนธรรมแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไป รวมทั้งเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ค่านิยมตะวันตกตลอดจนข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายจากภายนอก อันเป็นผลจากกระแสโลกาภิวัฒน์ ทำให้เกิดความหลากหลายในด้านความเชื่อ และการปฏิบัติมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ทำให้พุทธศาสนามีความหลากหลายมากขึ้น ยากที่จะควบคุมให้มี “มาตรฐาน” เดียวกันได้ ผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากการศึกษาสมัยใหม่ที่รัฐกำกับมักมีความเข้าใจว่าพุทธศาสนาในไทยนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือเข้าใจว่าพุทธศาสนาแบบทางการเท่านั้นที่เป็น “พุทธแท้” จึงมักมีคติกับพุทธศาสนาแบบอื่นๆ แต่หากศึกษาให้ถ่องแท้ ก็จะพบว่าพุทธศาสนาแบบทางการนั้นก็มีปัญหาในตัวเอง เพราะผ่านการปรับปรุงเพิ่มเติมและ ตัดทอนมาไม่น้อย ขณะเดียวกันพุทธศาสนาแบบอื่นๆ ก็มีข้อดีหรือจุดเด่นที่น่าศึกษา พุทธศาสนาในประเทศไทย : เอกภาพในความหลากหลายเป็นเสมือนหน้าต่างที่เปิดให้ผู้อ่าน เห็นโลกแห่งพุทธศาสนาในประเทศไทยได้กว้างขึ้นเป็นพื้นฐานที่ดีในการทำความเข้าใจความเป็นจริงของพุทธศาสนาไทย ซึ่งไม่ได้เป็นเอกภาพอย่างที่หลายคนเข้าใจและได้ชี้ให้เห็น พุทธศาสนาในประเทศไทยอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ และการเมืองอีกทั้งยังชี้ให้เห็นความแตกต่างที่สำคัญของพุทธศาสนาแต่ละแนว อาทิเช่น ทัศนะเกี่ยวกับความจริง และความดี (อภิปรัชญา และจริยศาสตร์) การประพฤติปฏิบัติและศิลปะ รวมทั้งมีการวิเคราะห์ถึงจุดเด่น และจุดด้อยของแต่ละแนว แน่นอนว่าประเด็นที่มีความซับซ้อนอย่างพุทธศาสนาในประเทศไทย ยากที่หนังสือเล่มหนึ่งเล่มใดที่มีเนื้อหาครอบคลุมครบถ้วนได้ แม้กระทั่งการจำแนกพุทธศาสนาไทยออกเป็น 6 ประเภทก็อาจที่จะไม่ครอบคลุมเพียงพอ เช่น สำนักธรรมกาย แม้ไม่อาจจัดว่าเป็นแบบจารีตนิยมปัญญานิยม พัฒนาสังคม ประชานิยม และมหายานได้ แต่จะเรียกว่าเป็นแบบนอกแนวจารึตก็ทำได้ไม่เต็มปาก เพราะไม่ได้แยกตัวจากมหาเถรสมาคมอย่างสำนักสันติอโศก ยังไม่ต้องพูดถึงพุทธศาสนาแบบที่ไม่มีพระสงฆ์เป็นแกนกลางที่เรียกว่า “พุทธศาสนาแบบฆราวาส” อันเป็นปรากฎการใหม่ที่นับวันจะเติบใหญ่มากขึ้น
หนังสือเล่มนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการจะทำความเข้าใจกับพุทธศาสนาไทยในยุคที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และความสลับซับซ้อน ก็ขอร่วมอนุโมทนาบุญในครั้งนี้ด้วย ที่ได้ใช้วิริยอุสาหะในการเขียนหนังสือเล่มนี้มา ซึ่งเชื่อแน่ว่าจะช่วยให้ชาวพุทธไทยทั้งหลายได้รู้จักตัวเองดีขึ้นด้วย
ข้อมูลได้จากการอ่านหนังสือ หมวด BQ 4028 ท9ภ622  พระพุทธศาสนาในประเทศไทย : เอกภาพในความหลากหลาย โดย ภัทรพร สิริกาญจน

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร