"วันส่งตายาย"

23 September 2014
Posted by peekan

วันนี้เป็นวันพระ แรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐  ที่วัดดุสิดารามวรวิหาร จัดงานบุญสารทเดือนสิบ สืบสานประเพณี วิถีกตัญญูชาวใต้ ในวันนี้ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๗
เวลา ๘.00 น. เริ่มตั้งเครื่องสังเวยบรรพบุรุษ (ร้านเปรด) และรวบรวมรายชื่อัฐิ เพื่อบังสุกุล
เวลา ๑๐.๐๐ น.  แสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ ถวายสังฆทาน ถวายผ้าป่าสามัคคี ๑๕ จังหวัด สวดมาติกาบังสุกุล พระสงฆ์อนุโมทนา ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณรประมาณ ๓๐๐ รูป
พวกเราชาวใต้ก็ได้แสดงความกตัญญู ตามโอกาสที่เหมาะสม และยังเป็นการรักษาศีลอุโบสถ
“บุญสารทเดือนสิบ” คือการทำบุญในช่วงกลางปีของไทย ตรงกับวันสิ้นเดือน ๑๐ หรือ วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เป็นช่วงที่พืชพันธุ์ธัญญหาร ผลไม้ ข้าว และต้นไม้ที่ปลูกไว้กำลังให้ผลเป็นครั้งแรกในรอบปี การทำบุญสารทเดือนสิบจึงเป็นหนึ่งในประเพณีที่ผนวกวิถีเกษตรกรรมตามแบบฉบับดั้งเดิมของสังคมไทย ผสมผสานความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและความกตัญญูทีี่มีต่อบรรพบุรุษ ถือเป็นวันรวมญาติที่บรรดาสมาชิกในครอบครัวซึ่งอาจแยกย้ายตามวิถีได้กลับมาอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้า ไม่เว้นกระทั่งวิญญาณของสมาชิกที่ล่วงลับไปแล้ว ก็อยากกลับมาแสดงความรักต่อคนในครอบครัวที่มีความผูกพันกันมา
การทำบุญ “สารท” เป็นประเพณีที่ีสืบทอดกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาล ประวัติที่มานั้นสันนิษฐานกันว่ามีรากฐานมาจากประเพณีของอินเดียโบราณซึ่งถือปฏิบัติกันในหมู่พารหมณ์เรียกกันว่า “ศารทธะ” เป็นธรรมเนียมการเซ่นไหว้บิดา ตลอดจนบรรพบุรุษที่ล่วงลับ โดยแต่ละครอบครัวมักจะเชิญเหล่าพราหมณ์มาเลี้ยงอาหาร และขอให้ช่วยทำพิธีกรรมกรวดอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย อย่างไรก็ตามในสมัยพุทธกาลเอง เล่ากันว่าช่วงที่มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น พราหมรณ์จำนวนมากหันมานับถือพระพุทธศาสนา แต่ประเพณีดังกล่าวยังคงถูกปฏิบัติสืบมา เนื่องด้วยพระพุทธเจ้าเห็นว่าเป็นประเพณีที่มีคุณค่าเพราะเป็นการแสดงความกตัญญูกตวเทีและให้ความสุขแก่ผู้ปฏิบัติ เหตุนี้จึงมิได้กีดกันพุทธศาสนิกชนในการถือปฏิบัติต่อมา
สารทเดือนสิบ อัตตลักษณ์คนไทยภาคใต้
ประเพณีทำบุญสารเดือนสิบของชาวใต้จะเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งถือเป็นวันที่พญายมปล่อยตัวผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่เรียกว่า “เปรต” ให้ขึ้นมาจากนรก และจะเรียกตัวกลับไปนรกตามเดิมในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ การปฏิบัติของผู้มีชีวิตอยู่ในประเพณีจึงมีอยู่ ๒ ช่วง คือ ในวันแรม ๑  ค่ำ เดือน ๑๐ ครั้งหนึ่ง กับในวันแรม๑๓ ค่ำ แรม ๑๔  ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ อีกครั้งหนึ่ง
“หมรับเล็ก” วันรับตายาย
การทำบุญตามประเพณีสารทเดือนสิบช่วงแรก จัดขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐  ชาวบ้านบางส่วนอาจไม่นิยมประกอบพิธี โดยจะยกรอไปจนถึงวันแรม ๑๓ ค่ำ แรม ๑๔ ค่ำ และ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐  การประกอบพิธีในวันนี้จึงเป็นไปอย่างง่ายๆ เพียงจัดภัตตาหารไปทำบุญที่วัด ถือเป็นเป็นการต้อนรับญาติมิตรที่ขึ้นมาจากนรก ชาวบ้านเรียกวันนี้ว่า “วันรับตายาย” และในบางท้องถิ่น เช่นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกวันนี้ว่า ” วันหมรับเล็ก”  (หมรับ เป็นภาษาถิ่นใต้ หมายถึง สำรับ)
“วันจ่าย” ธรรมเนียมสื่อความรัก
ถึงวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๐ จะมีการจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไว้สำหรับจัดหมรับใหญ่ เรียกกันว่า “วันจ่าย” เพราะนอกจากแต่ละบ้านจะจัดเตรียมผลิตผลและสิ่งของต่างๆ มาใช้ในการจัดหมรับอันเป็นโอกาสแสดงความรักและความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัวแล้ว เมื่อขาดเหลือสิ่งใดก็จะต้องรับซื้อหาในท้องตลาด บางพื้นที่เช่น นครศรีธรรมราชยังมีธรรมเนียมปฏิบัติว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะซื้อของเล่านให้ลูกหลานในวันนี้ด้วย จึงเป็นวันที่คึกคึกมากที่สุดวันหนึ่ง
“หมรับใหญ่” สื่อสัมพันธ์สองภพ
หลังจากจับจ่ายซื้อหาข้าวของเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาจัดหมรับซึ่งส่วนใหญ่จะจัดกันในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ แต่เดิมนิยมใช้กระบุงทรงเตี้ยๆ สานด้วยตอกไม้ไผ่ขนาดเล็กใหญ่ตามความต้องการของผู้จัด แต่มาระยะหลังนี้ใช้ภาชนะจัดตามสะดวก เช่น กระจาด ถาด กะละมัง ถึง กระเชอ เป็นต้น สำหรับขั้นตอนการจัดของลงในหมรับนั้นเริ่มจากใส่ข้าวสารรองกระบุงก่อนใส่หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล และบรรดาเครื่องปรุงรสอาหารที่จำเป็นจนครบ จากนั้นจึงเป็นพวกอาหารแห้ง เช่นปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักผลไม้สำหรับประกอบอาหารคาวหวานที่เก็บไว้ได้นานๆ เช่น มะพร้าว ฟัก มัน กล้วยที่ไม่สุกมาก อ้อย ข้าวโพด ข่า ตะไคร้ ขมิ้น และพืชผักอื่นๆ
บางครอบครัวอาจใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไต้ ไม้ขีด หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย เครื่องเชี่ยนหมาก ได้แก่ หมาก พลู ปูน กานพลู การบูีร พิมเสน สีเสียด ยาเส้น บุหรี่ ยาสามัญประจำบ้าน ธูป เทียน แล้วจึงใส่หัวใจสำคัญของหมรับ คือ ขนม  ๕ อย่าง ซึ่งสื่อความหมายถึงการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับและเป็นสัญญลักษณ์ของานบุญสารทเดือนสิบ
กล่าวกันว่าของที่นำไปถวายพระในวันสารท จะต้องพิจารณาให้ถูกกับนิสัยของบรรพบุรุษที่อุทิศให้ เช่น บรรพบุรุษชอบดูละคร ชอบกัดปลา ชอบเล่นไก่ชน ชอบชนวัว ชอบเล่นนกเขา ฯลฯ ก็จัดทำเป็นรูปตุ๊กตานั้นๆ ส่งให้ไปด้วย
ไปรับ ตากับยาย แล้ว วันนี้ ก็ต้องส่ง “ตากับยาย” ให้เรียบร้อย
“หลองหมรับ” วันส่งตายาย การฉลองหมรับและบังสุกุล กระทำในวันแรม ๑๕ ค่ำ จึงเรียกว่า “วันหลองหมรับ” ซึ่งจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ บังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องและผู้อื่นที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นวันส่งญาติพี่น้องและผู้ที่ล่วงลับไปแล้วกลับสู่นรก ชาวบ้านจึงเรียกวันนี้ว่า “วันส่งตายาย” ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลเพื่อบรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว จะไม่อดอยากหิวโหยเมื่อกลับสู่นรก หากใครไม่ได้ไปทำบุญในวันส่งตายายนี้จะถูกมองว่าเป็นคนอกตัญญู
ปีหน้า ขอให้ฉันได้มีโอกาสไปทำบุญให้กับบรรพบุรุษ สาธุ สาธุ สาธุ
ขนม ๕ อย่าง สัญญลักษณ์แทนความห่วงใย
๑. ขนมพอง สัญญลักษณ์แทนแพสำหรับญาติผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพตามคติทางพุทธศาสนา
๒.  ขนมลา สัญญลักษณ์แทนแพรพรรณแทนเครื่องนุ่งห่ม
๓.  ขนมกง (ขนมไข่ปลา)  สัญญลักษณ์แทนเครื่องประดับ
๔.  ขนมดีซำ หรือ เมซำ สัญญลักษณ์แทนเบี้ยสำหรับใช้สอย
๕.  ขนมบ้า สัญญลักษณ์แทนสะบ้า สำหรับญาติผู้ตายจะได้ใช้เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์
ผู้สูงอายุบางคนกล่าวว่า ขนมที่เป็นหัวใจของการจัดหมรับ มี ๖ อย่าง โดยเพิ่มขนม “ลาลอยมัน”  ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์แทนฟูกหมอนเข้าไปด้วย ขนมต่างๆ เหล่านี้สามารถเก็บไว้ได้นานไม่บูดเสียง่าย เหมาะเป็นเสบียงเลี้ยงพระสงฆ์ไปได้ตลอดฤดูฝน
คัดลอกมาจาก หนังสืองานบุญสารทเดือนสิบ สืบสานประเพณ๊ วิถีกตัญญูชาวใต้ อนุสรณ์งานวันสารทสหภูมิภาคทักษิณ ครั้งที่ ๕๐ 
                          ณ วัดดุสิารามวรวิหาร เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร ๑๙-๒๓ กันยายน ๒๕๕๗
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร