ต้นสาละอินเดีย และลังกา

5 September 2014
Posted by Chanpen Klomchaikhow

ปกติตอนเช้าๆ เวลาขับรถมาทำงาน ก็จะฟังข่าวจากวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย แล้วก็มีรายการที่ชอบอยู่รายการหนึ่งคือ รายการ รู้รักภาษาไทย น่าจะเป็นช่วงต้นๆ ปี (กุมภาพันธ์ 2557) ได้มีการพูดถึงคำว่า ต้นสาละ…ซึ่งจริงๆ ตัวเองเคยได้เขียนเล่าไว้เมื่อนานมาแล้วในเรื่อง สาละ…ไม้มงคล แต่ในเรื่องของพันธุ์ว่าเป็นอินเดีย หรือลังกา … ตอนนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าทั้ง 2 พันธุ์หน้าตาเป็นอย่างไร
วันนี้ก็เลยจะมาเล่าให้ฟังอีกซักกะหน่อย เพราะช่วงใกล้ประเมิน KPI ทีไร ต้นไม้ดอกไม้มากันอย่างล้นหลาม … เลยอินเทรนด์เอากะเค้าบ้าง แต่ขอมาตอนต้นๆ การประเมินแทน…  😉
ในบทวิทยุรายการ รู้ รัก ภาษาไทย ของราชบัณฑิตยสถน ได้กล่าวถึงต้นสาละอินเดีย และต้นสาละลังกา ไว้ว่า…
salaสาละ เป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นสาละ ก่อนตรัสรู้ในเวลากลางวันประทับใต้ต้นสาละ และเวลาเย็นย้ายไปประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จนตรัสรู้ในเวลารุ่งเช้า และปรินิพพานระหว่างต้นสาละคู่
ต้นสาละ ได้แก่ สาละอินเดีย และสาละลังกา ซึ่งเป็นไม้คนละวงศ์กัน
ต้นสาละอินเดีย เรียกว่าสาละใหญ่ หรือมหาสาละ ก็ได้ มีถิ่นกำเนิดในประเทศเนปาล อินเดีย และบังกลาเทศ พบมากในเขตเชิงเขาหิมาลัยตอนใต้ เป็นพืชในตระกูลยาง พวกเดียวกับพะยอม เต็ง รัง เป็นไม้ใหญ่ไม่ผลัดใบ ลำต้นตรง เปลือกสีน้ำตาลอมดำแตกเป็นร่องเป็นสะเก็ดทั่วไป ใบดกหนา ปลายกิ่งห้อยลู่ลง ออกดอกช่วงต้นฤดูร้อน มีสีเหลืองอ่อนรวมกันเป็นช่อสั้นตามปลายกิ่งและง่ามใบ ผลแข็งมีปีก เป็นไม้เนื้อแข็งที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย
ต้นสาละลังกา หรือต้นลูกปืนใหญ่ เป็นพืชในวงศ์จิก มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ประเทศศรีลังกาได้พันธุ์มาจากอเมริกาใต้มาปลูก เมื่อพุทธศักราช 2422 ส่วนประเทศไทยนำมาปลูกเมื่อพุทธศักราช 2500 เรียกว่า สาละลังกา
สาละลังกา เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ประเภทไม้ผลัดใบ เปลือกลำต้นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องและเป็นสะเก็ด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับตามปลายกิ่ง ดอกใหญ่มีสีชมพูอมเหลืองและแดง ก้านช่อยาว ออกตามโคนต้นและลำต้น กลีบดอกแข็ง หักง่าย มีเกสรตัวผู้เป็นจำนวนมาก มีกลิ่นหอมแรง ผลกลมใหญ่ ผลแห้งเปลือกแข็งสีน้ำตาล
ชาวศรีลังกาถือว่าสาละเป็นไม้มงคลเพราะดอกสวยและมีกลิ่นหอม จึงนิยมนำไปถวายพระ มักปลูกในบริเวณวัดและปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในประเทศเขตร้อน สาละลังกาไม่ใช่ต้นสาละในพุทธประวัติคนทั่วไปเข้าใจผิดด้วยชื่อสาละเหมือนกัน
นี่ก็เป็นอีกความรู้นึงที่ได้รู้เพิ่มเติมจากที่เคยได้อ่านในหนังสือ ต้นสาละ ไม้มงคลในพระพุทธศาสนา ของ พระวิเทศโพธิคุณ ….

5 thoughts on “ต้นสาละอินเดีย และลังกา

  • โธ่คุณน้องเอ๋ขาทำไมในภาพมันมีแต่ใบล่ะ เลยไม่รู้ว่าดอกนั้นเป็นฉันท์ใด ระหว่างสาละสองพันธ์ุที่ว่านี้ ในมหาวิทยาลัยนี้มีที่คณะเภสัชฯปลูกไว้เห็นอยู่ต้นหนึ่งนะ(เพิ่งเห็นจะจะเมื่อปลายปีที่แล้วแต่ต้นใหญ่แล้วแถมออกดอกแล้วด้วย)อยู่ข้างถนนด้านหลังใกล้คูน้ำระหว่างคณะเภสัชฯกับคณะอักษรฯ พี่เคยแวะเข้าไปดูดอกบ่อยๆแอบดมๆดูเออหอมด้วยแฮะ น่าจะเป็นสาละลังกาอย่างที่ว่า พี่ไปเห็นต้นสาละครั้งแรกที่วัดโพธิ์ในกรุงเทพฯ ครั้งที่สองที่วัดบันไดทอง จ.เพชรบุรี และครั้งที่สามที่วัดพระนอนจักรสีห์ จ.สิงห์บุรี ที่วัดนี้เขาปลูกไว้ที่ลานจอดรถเป็นแถวเลยแล้วมีต้นสาละที่วัดเพาะไว้จำหน่ายด้วยไม่แพงเท่าไรและน่าจะเป็นสาละลังกาเพราะช่อดอกยาว เอ่อ!หอสมุดเราน่าจะหามาปลูกสักต้นนึงเนอะมีที่ว่างๆอยู่เยอะ จะได้มีสา(ระ)ละบ้าง555!!

  • แหม…ก็ตอนที่ถ่ายน่ะมันยังไม่ออกดอกนะจ๊ะ…แถมไม่รู้อีกต่างหากว่าอินเดีย หรือลังกา แต่ว่าน่าจะเป็นลังกา เพราะได้ยินว่าในเมืองไทยจะมีพันธุ์นี้ค่อนข้างมาก

  • ต้นสาละ กับ ตันสั่งธรรมต้นเดียวกันไหม

  • ไปหาคำตอบมาให้แล้วค่ะพี่แมว…เค้าบอกว่าต้นสั่งทำ (ไม่ใช่ธรรม) หรือต้นล่ำซำ หรือต้นหูหนู เป็นต้นไม้มงคล เป็นไม้เนื้อแข็ง มีพุ่มสวยงาม ให้ร่มเงากับบ้าน และมีความเชื่อว่าจะนำความรุ่งเรืองมาให้กับบุคคลในบ้านด้วย…อ่านแล้วก็คาดว่าน่าจะเป็นคนละต้นกับสาละแล้วล่ะค่ะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร