การเป็นลูกน้องที่ดี

เมื่อเราก้าวเข้าสู่การทำงานในรูปแบบองค์กร สิ่งแรกที่เราต้องเป็นคือ การเป็น “ลูกน้อง” หรืออาจเรียกชื่ออย่างอื่น เช่น ผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ตาม เป็นต้น ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายคำว่า “ลูกน้อง” หมายถึง บริวาร ผู้อยู่ในปกครองหรือใต้บังคับบัญชา ผู้ใกล้ชิดเป็นกำลังสำคัญในการทำงาน
และแน่นอน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ “ลูกพี่” หรือผู้บังคับบัญชาต้องมีลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา งานของลูกพี่จะสำเร็จลุล่วงไปได้ก็ต้องอาศัยมือลูกน้องช่วยกันทำ ทำในสิ่งที่ลูกพี่และองค์กรต้องการให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ลูกพี่จึงมักจะคาดหวังว่าจะได้ลูกน้องที่ดี เพื่อที่ตนเองจะได้ไม่ต้องเหนื่อยมากนัก ซึ่งลูกน้องที่ดีในความเห็นของผู้เขียนควรมีคุณสมบัติดังนี้

  1. มีความเก่งในวิชาชีพของตน สามารถนำความรู้ในสาขาวิชาชีพมาปรับใช้ในการทำงานให้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนที่เก่งอาจไม่เป็นที่ต้องการขององค์กรก็ได้ หากคนเหล่านั้นนำความเก่งของตนหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องมากกว่าทำประโยชน์ให้องค์กรที่ตนรับเงินเดือนอยู่โดยเบียดบังเวลาการทำงานในองค์กร
  2. มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ทำงานในหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ให้ครบทุกชิ้นงานที่ได้รับมอบหมาย สร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ไม่สร้างภาพ ไม่เลือกทำงานเฉพาะที่ทำให้ตนเองมีผลงานเด่นเหนือเพื่อนร่วมงาน
  3. ฉลาดคิด ฉลาดในการทำงาน มีการวางแผนการทำงานของตนเอง มีการจัดทำข้อมูลในการทำงานให้เป็นปัจจุบัน สามารถนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว ค้นหาได้ง่าย จัดทำรายงานในเรื่องที่สำคัญให้เจ้านายทราบ สามารถคาดการณ์ปัญหา อุปสรรคในงานของตนเองได้และมีการพัฒนาการทำงานอยู่เสมอ
  4. มีการสื่อสารทั้งในรูปวาจาและเอกสารได้เป็นอย่างดี กระชับ และสามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย
  5. มีมนุษยสัมพันธ์ ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน ช่วยทำงานที่เป็นส่วนรวม สามารถทำงานเป็นทีมได้เป็นอย่างดี
  6. มีการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร ค่านิยมองค์กร และการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
  7. ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน เรียนรู้ในวิชาชีพของตนเองเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ เรียนรู้ความรู้และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ เรียนรู้และรู้จักองค์กรของตนเอง เช่น องค์กรจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร มีวิสัยทัศน์ พันธกิจอย่างไร คนในองค์กรเป็นอย่างไร เจ้านายเป็นอย่างไร เพื่อที่จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่าเหมาะสม เป็นต้น
  8. ไม่ล้ำเส้นเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ มีมารยาทและให้เกียรติผู้อื่น ไม่หักหน้าผู้อื่น
  9. ไม่ขโมยความคิด ผลงานผู้อื่น หรือใช้ผู้อื่นเป็นบันไดสู่ความสำเร็จของตนเอง
  10.  มีความเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี ซื่อสัตย์สุจริต และยึดมั่นในศีลธรรมอันดีที่พึงประพฤติปฏิบัติ
  11.  มีความเชื่อมั่นในตนเอง กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง บางครั้งสิ่งที่ถูกต้องอาจไม่ถูกใจเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน แต่สิ่งเหล่านั้นจะทำให้เพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลัง ไม่มัวแต่รับคำสั่งเจ้านายเพียงอย่างเดียว ประเภทที่เรียกว่า “ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน” หรือ “ขุนพลพลอยพะยัก” เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นมาก็โยนความผิดให้เจ้านาย โดยอ้างว่า “ทำตามที่เจ้านายสั่ง” ลูกน้องที่ดีควรให้ข้อมูลหรือมีความคิดเห็นต่างในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อให้เจ้านายใช้เป็นดุลยพินิจและตัดสินใจ

สิ่งที่ลูกน้องกระทำอาจเป็นดาบสองคม ขึ้นอยู่กับความคิดและมุมมองของเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน เช่น
“ฉลาดเกินไป” จะถูกระแวงว่าทำตัว “เก่งกว่าเจ้านาย”
“ทำงานเร็ว” เพื่อนร่วมงานบอกว่า “อยากเอาหน้า”
“ทำงานช้า” เพื่อนร่วมงานบอกว่า “อู้ กินแรง”
“เสนอความเห็นมาก” หรือ “เสนอความเห็นต่างจากเจ้านาย” เจ้านายบอกว่า “อย่าล้ำหน้า” รอสั่งก่อนค่อยทำ
“ไม่เสนอความเห็นเลย” เจ้านายบอกว่า “ไม่รู้จักคิด”
  😆  ทุกอย่างต้องตั้งอยู่ในความพอดีและรู้จักปรับตัวนะคะ 🙄
 
 
 
 

3 thoughts on “การเป็นลูกน้องที่ดี

  • No comment “ถูกต้อง” “ดีมากค่ะ” บล๊อกหน้าอยากจะได้การเป็นลูกพี่ที่ดีบ้างค่ะ 555

  • เขียนไว้นานแล้วค่ะ ชื่อบล๊อก “ผู้นำ”ในอุดมคติ? ไปลองอ่านดูนะคะ

  • ดีมากๆเลย โดยเฉพาะข้อ 9 ดังนั้นเวลาพูดเรื่องงาน/ผลงานต้องอ้างด้วยว่า ใครคิด ใครเก่ง ไม่ใช่พูดแล้วทำให้คนอื่นๆ คิดว่าเป้นผลงานของคนพูด ได้ยินมานานแล้วคนที่เอาดีให้ตัวโดยทีี่ทำเสมือนว่า ตัวเองคิดและทำ คนที่อยู่ด้วย ได้เห็นได้รู้เขาก็รู้กันทั้งนั้น
    ขอชมตัวเองนะ ได้ลูกน้องเก่งๆมากมาย และลูกน้องต้องเก่งจริงจึงจะได้ดี แต่ละคนเก่งคนละชนิดนะ เก่งการเงิน เก่งบริหารคน เก่งอาคารสถานที่ เก่งบริการเฉพาะเรื่อง เก่งIT เก่งด้านศิลปะและการออกแบบเฉพาะทาง เก่งบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศ เก่งใช้คนซึ่งเก่งมากๆด้วย(ตัวเอง) ก็รู้นี่ว่าใครเก่งอะไรก็จับมาทำงานด้านนั้น จะได้ไม่ต้องเหนื่อย(ก็เหนึ่อย/แก้ไขตลอดมาจนเข้าที่แล้ว) พี่แมวชอบคนเก่ง ฉลาด แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ แต่ต้องปรึกษาหารือกันก่อนถ้าไม่เร่งด่วน แต่เร่งด่วนสามารถตัดสินใจได้เลย แล้วมาบอกกันทีหลัง คนเก่งหลายคนกล้าเถียง กล้าแสดงความคิดเห็น บางครั้งหรือหลายครั้งลืมไปว่า ตนเองเป็นลูกน้อง นึกว่าตนเองเป็นหัวหน้าของพี่แมว คนที่ไม่ทราบ ทำให้มองภาพพี่แมวไปอีกแบบหนึ่ง แต่ก็เพื่อองค์กร องค์กรมีผลงาน

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร