เดินสู่อิสรภาพ และ 500 Miles away from home

ด้วยความที่เคยบอกลูกว่า ถ้าอยากฟังเพลงประเภท country ไปให้น้าวีดีดกีต้าร์และร้องให้ฟังซิ  จนวันนึงเจ้าลูกชายได้เจอกับน้าวี จึงเอ่ยปากกับน้าวีให้ดีดกีต้าร์และร้องเพลงสากลเก่า ๆ ให้ฟัง  น้าวีแนะนำว่า ให้ไปหาความหมายของเพลง 500 Miles  away from home อ่าน พอกลับถึงบ้าน  ก็เปิดคอมพิวเตอร์ทำตามที่น้าวีบอก  พอตอนเช้าอีกวันระหว่างนั่งรถมาด้วยกัน ลูกก็เล่าให้ฟังถึงเนื้อหาของเพลงนั้น ระหว่างฟังลูกเล่า ใจก็นึกไปถึงหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่อ่านมานานมากแล้ว แต่ยังกินใจอยู่ไม่หาย คือ เดินสู่อิสรภาพ ของ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์
pic002
หนังสือเล่มนี้หนูเล็กนฤมล บุญญานิตย์เป็นผู้แนะนำให้อ่าน ทีแรกเห็นเล่มก็ทำท่าจะยอมแพ้ เพราะเล่มหนามาก ซึ่งปกติจะไม่ชอบอ่านหนังสือเล่มใหญ่ ๆ เพราะกลัวอ่านไม่จบ แต่พออ่านแล้วกลับวางไม่ลง  เล่มที่อ่่านตอนนั้นเป็นฉบับพิมพ์ครั้้งที่เท่าไหร่ ไม่ได้จำ แต่เล่มที่หยิบมาใหม่นี้เป็นการพิมพ์ครั้งที่ 7
พอลูกเล่าเรื่องของเพลงจบ ก็เลยพูดให้ลูกฟังบ้างว่า คล้ายกับหนังสือเล่มนี้เลย ที่เป็นการเดินทางด้วยเท้ากลับบ้านเกิด คนเดินไม่มีเงิน ไม่มีชื่อเสียง อาจจะต่างกันตรงที่จุดมุ่งหมายของคนเดิน  เพราะอาจต่างความเชื่อทางศาสนา และวัฒนธรรม เล่าความเป็นมาของอาจารย์ประมวลและตอนสุดท้ายที่อาจารย์ประมวลกลับถึงบ้านแล้วนำเอาห่อดินที่อาจารย์ห่อไปตั้งแต่จากบ้านเกิดและพกติดตัวตลอด 30 ปี เทลงในมือแล้วแนบอกแน่นตั้งจิตระลึกถึงเรื่องราวในอดีต ว่า ดินนี้คือ พ่อ แม่ และทุก ๆ สิ่งที่ให้กำเนิดชีวิต และตั้งใจว่าเมื่อชีวิตประสบความสำเร็จแล้ว จะนำดินนี้กลับมาคืนที่เดิม  แล้วแบ่งดินกลับสู่พื้น เหลือไว้ครึ่งหนึ่ง มอบให้กับน้าที่เป็นเสมือนแม่  (หน้า 493-494 )  ความรู้สึกของเราตอนที่อ่านนั้น มันเห็นภาพชายคนหนึ่งขะมุกขะมอม เดินมาถึงลานหน้าบ้านเกิดที่จากไปนานแสนนาน มองไปในบ้านเห็นควันออกจากครัว (แค่นี้ฉันก็น้ำตาจะไหล..นึกถึงเราเป็นคนคนนั้น จากบ้านไปนานและไกลแสน เราคงเห็นภาพแม่ที่อายุมากกำลังทำกับข้าวอยู่ในครัว และก็คิดถึงเหลือเกิน)  ลูกฟังเราพูด เขาก็อินไปกับเราด้วย คิดว่าเขาคงนึกเห็นภาพที่เราพูดเหมือนกัน  (เราสองคนท่าจะเป็นเอามาก!)
วันนี้จึงหยิบ “เดินสู่อิสรภาพ” มาเล่าให้เพื่อนอ่านเผื่อจะมีใครแบ่งความรู้สึกดี ๆ ไปได้บ้าง   อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญาและศาสนาอยู่ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปรารถนาที่จะออกเดินเพื่อค้นหาตัวเอง แต่ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากยังมีความห่วงใยในครอบครัว จนเมื่อครอบครัวอนุญาตและเลือกวันลาออกจากราชการในวันคล้ายวันเกิดปีที่ 51  และได้อธิบายเหตุผลกับนักศึกษาวิชาพุทธศาสนาที่เป็นลูกศิษย์ว่า  …การเรียนพุทธศาสนาของผม เป็นเหมือนการเรียนภาษาอังกฤษ ที่ใช้ความจำ จำไวยากรณ์ จำคำศัพท์ไว้ได้มากมาย แต่ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษให้ดีได้ เวลาจะพูดแต่ละครั้ง ต้องคิดถึงคำศัพท์ ต้องคิดปรุงแต่งประโยคที่จะพูด ที่สุดก็คิดมากเสียจนพูดไม่ออก..ความรู้ทางพุทธศาสนาของผมเป็นเหมือนความรู้ภาษาอังกฤษ ที่จดจำไว้ได้มาก แต่ครั้นจะปฏิบัติตามที่จำไว้ กลับยุ่งยากเสียจนไม่สามารถปฏิบัติได้ รู้อยู่ว่าการรักผู้อื่น (เมตตา)เป็นความดี แต่ครั้นจะรักใครสักคนกลับดูยุ่งยากขัดข้อง จนเวลาผ่านไปตั้งนานแล้วยังเกลียดเขาอยู่เลย  แล้วเป็นไปได้อย่างไรที่อาจารย์สอนวิชาพุทธศาสนา รู้ทั้งรู้อยู่ว่า  ความเกลียด ความโกรธ เป็นความชั่ว ความเมตตาเอื้ออาทรเป็นความดี รู้อยู่แล้วก็ยังเดินอยู่บนวิถีแห่งชั่ว แล้วผมจะอ้างว่า เป็นผู้รู้ เป็นผู้สอนพุทธศาสนาได้อย่างไร…(หน้า 21) และเลือกการเดินเป็นขบวนการข้ามให้พ้น..พ้นความรู้สึกเสียดายในสิ่งที่ยึดติดอยู่  พ้นความรู้สึกเกลี่ยดชังต่อผู้อื่นที่ถูกทำให้เป็นคู่แข่งขัน พ้นความรู้สึกกลัว ในความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว และจะเดินจน ความโลภ ความโกรธ ความหลง จะเบาบางลง
การเดินของอาจารย์ประมวล ไม่มีการกำหนดเรื่องเวลา และจุดหมายรายทาง เพราะไม่ต้องการกำหนดว่า จะเดินไปทางไหน จะกินที่ไหน จะนอนที่ไหน และจะไม่เดินไปหาคนรู้จักเพียงเพราะต้องการอาหาร และที่พัก และจะไม่ใช้เงินระหว่างการเดินทาง อาจารย์ได้เริ่มฝึกหัดเดินตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ถึง 14 พฤศจิกายน 2548 และเริ่มออกเดินจากบ้านจริง ๆ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน  2548 ถึงเกาะสมุย บ้านเกิดในวันที่ 24 มกราคม 2549
ทุกก้าวเดิน ทุกหมู่บ้าน ทุกคน ที่อาจารย์ประมวลพบปะ พูดคุย ได้ที่พัก ได้อาหาร ก่อให้เกิดการเรียนรู้ภายในตน ซึ่งในการเขียนหนังสืออาจารย์ใช้คำว่า “สำนึก” และ “เรียนรู้” บ่อยมาก ๆ  และจะใช้ในทุกครั้งที่ได้พบบุคคลที่ให้บทเรียน   การเปิดเผยถึงสำนึก และการเรียนรู้ ที่อาจารย์รู้สึกจริง และสื่อสารให้ผู้อ่านได้อ่าน ร่วมพิจารณาไปด้วยนั้น อาจารย์ได้แสดงออกอย่างซื่อสัตย์ต่อตนเอง  หรือเมื่อเกิดเวทนาต่าง ๆ ในระหว่างการเดิน   เดินไปแล้วเหนื่อย หิว ก็บรรยายว่าหิวอย่างไร และได้พยายามพิจารณาอารมณ์ เมื่อทำไม่ได้ก็บอกว่าทำไม่ได้ ไม่ได้สร้างภาพให้ผู้อ่านหลงใหลคิดไปว่าภาพพจน์ดี จนเมื่อเกิดการเรียนรู้ ก็จะผ่านด่านเวทนานั้นไปได้ ทำให้ผู้อ่านได้รู้สึกค่อย ๆ คล้อยตาม และไม่รู้สึกว่าผิด หรือไม่ได้เรื่อง  ทำให้คิดไปได้ว่า เมื่อตั้งใจทำอะไรสักอย่าง แล้วสดุดปัญหาก็เป็นเรื่องปกติ ให้เราพิจารณาให้ถ่องแท้ ก็จะเข้าใจและแก้ปัญหาได้
“ความเป็นคนอื่น” ในตัวผม ได้นำพาความฉงนสงสัยและความหวาดระแวงมาสู่จิตใจของผู้พบเห็น และได้ประทุษร้ายจิตใจของผู้พบเห็น พลันที่สำนึกเช่นนี้ ความรู้สึกผิดก็เกิดขึ้นในใจผม…ผมจะต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อจะไม่ไปประทุษร้ายจิตใจผู้อื่นอีกต่อไป (หน้า 179-180)  …ในแต่ละวันที่ผมได้พบกับบุคคลที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และบุคคลเหล่านั้นได้ปฏิบัติต่อผมเหมือนกับเป็นญาติมิตรที่สนิทคุ้นเคย ได้ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนแปลงไปมาก  ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ที่งดงามซึ่งมีอยู่ทั่วในทุกคน ทำให้สิ่งชั่วร้ายในตัวผมค่อย ๆ ลดน้อยลง ความเห็นแก่ตัว ความรู้สึกแค้นเคือง ความหวั่นกลัว ได้บรรเทาเบาบางลง
หนังสือเล่มนี้ให้คุณค่ามากมาย  เป็นอาหารสมอง และอาหารจิตใจ  ดังจะยกตัวอย่างบางส่วน ได้รับความรู้ในการเดินป่า  ที่อาจารย์ประมวลได้รับคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่า ในอุทยานแห่งวชาติแม่ปิง ว่า  “บางจุดอาจมีร่องรอยทางไม่ชัดเจนและถ้าเจอทางแยกก็ให้เดินไปตามทางสู่ที่ต่ำ อย่าเดินตามทางที่สูง และถ้าไม่หลงทาง ภายในบ่ายวันนีจะต้องไปถึงหน่วยอนุรักษ์ต้นน้ำแม่พริก แต่ถ้าล่วงเลยไปจนถึงเย็นแล้วยังไม่ถึงแสดงว่าหลงทาง  ให้เดินตามร่องน้ำโดยเดินตามกระแสน้ำ” (หน้า  168)  ส่วนอาหารทางจิตใจนี่มีเยอะมาก เช่น  (หน้า 117) ความแก่เป็นสภาวะธรรมดา ที่ใคร ๆ ก็ต้องแก่ แต่จะทำอย่างไรให้ความแก่เป็นความสงบเย็น  ความเจ็บเป็นสภาวะธรรมดา ที่ใคร ๆ ก็ต้องเจ็บ แต่จะทำอย่างไรให้ความเจ็บเป็นความเบิกบาน ความตายเป็นสภาวะธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ต้องตาย แต่จะทำอย่างไรให้ความตายเป็นความงดงามที่จะได้ตระหนักรู้    และได้ตระหนักถึงคำสอนของท่านพุทธทาสข้อหนึ่งที่ว่า  ธรรมะคือธรรมชาติ :  (หน้า 169-172)   ระหว่างที่อาจารย์ประมวลเดินอยู่ในอุทยานแห่งชาติ ต้องระวังสภาพแวดล้อมภายนอก มากกว่าสภาวะภายในจิต จึงทำให้เห็นพลังแห่งธรรมชาติ ว่า ธรรมชาติคือบ้านอันกว้างใหญ่ไพศาลของสรรพชีวิต ทั้งหมดรวมทั้งตัวอาจารย์ด้วยเคลื่อนไหวไปอย่างมีจุดหมาย การเคลื่อนไหวของแต่ละขีวิตมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ต่างต้องอิงอาศัยกัน  ได้เห็นมดฝูงหนึ่งกำลังกินซากไส้เดือนบนพืนดิน ทำให้เห็นถึงวงจรแห่งการเกื้อกูล มดต่อชีวิตได้ด้วยการกินไล้เดือน เป็นห่วงโซ่แห่งชีวิต ทำให้เกิดสรรพชีวิตขึ้นและดำรงอยู่อย่างหลากหลายและงดงาม เพียงชั่ววูบของความรู้สึกได้สำนึกบุญคุณของไส้เดือนและมด…เพ่งมองไปรอบ ๆ ตัวด้วยสำนึกรู้ใหม่ เห็นมด แมลงหลายชนิดอยู่บนกิ่งไม้  พื้นดิน บินอยู่ ทั้งหมดนี้คือเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย การทำให้จิตจดจ่ออยู่กับปรากฏการณ์ธรรมชาติ  ทำให้เกิดเมตตาภาวนาบ่มเพาะธรรมะให้งอกงามภายในจิตได้อย่างอัศจรรย์ และนี่คือความหัศจรรย์แห่งจิตที่สามารถจะรู้แจ้งได้ หากไม่ถูกบดบังด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง…และยังชอบข้อความที่อยู่ตอนเกือบจบเล่มแล้ว เมื่อกลับถึงบ้านที่เกาะสมุยแล้วได้พบกับเพื่อนที่เป็นเกลอกันตั้งแต่เด็กโดยมหัศจรรย์ เนื่องจากต่างคนต่างไปทำงานอยู่นอกเกาะ แต่กลับได้มาพบกัน ณ จุดที่เคยรอพบเพื่อเดินไปโรงเรียนด้วยกัน  อาจารย์บอกว่า …มิตรภาพ เป็นสิ่งมหัศจรรย์  มิตรภาพ เป็นสิ่งปาฏิหาริย์  มิตรภาพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์…(ซึ่งดิฉันคิดตามว่า เป็นจริง เพื่อน ๆลองคิดดูซิว่า จริงมั๊ย? เป็นเพื่อนกัน จะคิด จะทำอะไรก็ดูง่ายไปหมด ต่อให้มีปัญหาเกิดขึ้น เพื่อนก็จะช่วยกันบรรเทาปัญหาได้)
เล่าไป แนะนำไป ทำให้ดิฉันคิดว่า รู้สึกเชยกับการนำเอาหนังสือเล่มนี้มาเล่า  เพราะมีผู้กล่าวขวัญถึงมานาน และมากมาย แต่เมื่ออ่านแล้วได้ข้อคิดมาก จึงเพียงอยากให้เพื่อน ๆ ได้อ่านตาม   การอ่านเพียงแค่จากที่คนอื่นเล่า ก็ไม่เหมือนกับอ่านเอง ยิ่งหนังสือที่มีเนื้อหาเป็นเหมือนเข็มทิศชี้นำ นำใจคนอ่านให้ใฝ่สงบ ใฝ่หาความหมายของชีวิต เช่นนี้ การแนะนำหรือการสรุปเป็นเพียงการบอกเพื่อน ๆ ว่า ไปหยิบมาอ่านเถอะ อ่านแบบมีสติคิดตาม สิ่งที่ได้มากมายเหลือเกิน
 

Comments are currently closed.

One thought on “เดินสู่อิสรภาพ และ 500 Miles away from home

  • ของห้องสมุดมีให้บริการอยู่ที่ BD435 ป43

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร