คำนำหน้านามกับความเชื่อมั่น

6 February 2014
Posted by maew

คำนำหน้านาม ในที่นี้แบ่งออกเป็น 1) คำนำหน้านามปกติทั่วไปที่ใช้กัน ได้แก่ นาย นาง นางสาว 2) คำนำหน้านามที่แสวงหาด้วยตนเองจากการศึกษา / การทำผลงานทางวิชาการ ได้แก่ ดอกเตอร์/ด๊อกเตอร์ (ดร.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) ศาสตราจารย์ (ศ.) 3) คำนำหน้านามหลังเกษียณอายุราชการได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ/กิตติคุณ และ 4) คำนำหน้านามที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเช่น หม่อมเจ้า (ม.จ.) หม่อมราชวงศ์ (ม.ร.ว.) หม่อมหลวง (ม.ล.) เป็นต้น
การบันทึกครั้งนี้ขอย้ำเฉพาะคำนำหน้านามที่แสวงหาด้วยตนเองคำว่า ดร. ผศ. รศ. ศ. เท่านั้น คำเหล่านี้ช่วยเน้นย้ำความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจในข้อมูลที่บุคคลคนนั้นนำเสนอทั้งด้วยลายลักษณ์และวาจา ซึ่งกว่าจะจบการศึกษามีคำว่า ดร. นำหน้าต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ใช้ความมุ่งมั่น ความมุมานะ ฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กว่าจะได้ ผศ. รศ. ศ. นำหน้าชื่อตนเองก็เช่นเดียวกันกับ ดร. ยิ่งผู้ใดมีคำนำหน้ามากหลายหลาย ยิ่งน่าเชื่อถือทำให้มั่นใจมากยิ่งขึ้นเช่น ศ. ดร.นายแพทย์ ม.จ. / ศ.พล.ต.อ. ดร. เป็นต้น
ในการเขียนบทความลงวารสารวิชาการ หรือ วารสารวิจัย ต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรอง หรือผู้ทรงคุณวุฒิกลั่นกรอง หรือคณะกรรมการ Peer review ดังนั้นวารสารแต่ละชื่อจึงมีรายชื่อคณะกรรมการฯ โดยมีคำนำหน้านาม ศ.ดร. / รศ.ดร. จำนวนมาก มองหาคำนำหน้า นาย นาง นางสาว ระดับน้อยมากลงไปจนถึงไม่มี
ที่ผ่านมาการประชุม/สัมมนามักพบว่า พิธีกรยังคงเรียกและใช้คำว่า นาง นางสาว นาย นำหน้าชื่อ ทั้ง ๆ ที่บุคคลผู้นั้นมีสิทธิ์และศักดิ์ใช้คำว่า ดร. แล้วก็ตาม อาจเนื่องจาก 1) พิธีกรยึดตามระเบียบงานสารบรรณ 2) พิธีกรไม่ทราบ ดังตัวอย่างเช่น ขอเรียนเชิญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร…………..กล่าวรายงาน…………และขอเรียนเชิญ นาง………………….รองเลขาธิการ…………….กล่าวเปิดการสัมมนาและบรรยายพิเศษ ซึ่งผู้เขียนทราบในต่อมาว่า นาง…………..มีคำนำหน้า ดร. ด้วย
สำหรับผู้เขียนคำว่า ดร. นั้นต้องหยุดพักไปเลยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 (จบปริญญาตรี 2518 ปริญญาโท 2528) เพราะเหตุผลหลักก็คือ คำ ๆ เดียวของผู้เป็นสามี เหตุผลรองลงมาก็น่าจะเป็นบุคลากรสาย ข. ค. การอนุญาให้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกยัง… หากถามว่า ทำไมจึงอยากได้คำนี้ ขอตอบว่า 1) ก่อนแต่งงาน เอาไว้ป้องกันไม่ให้ใครเรียกว่า นางสาวกาญจนา ………จนย่างเข้าอายุในวัยชรา 2) การทำงาน เอาไว้เป็นยันต์กันตัวเองให้มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น ซึ่งต่อมาจนทุกวันนี้จะพบว่า คนรุ่นใหม่มีการศึกษาต่อกันอย่างไม่หยุดยั้งซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี คิดว่าหากมีมากกว่าปริญญาเอกคงต้องศึกษาต่อกันอีก แน่นอนลูกศิษย์ย่อมไปไกลกว่าครู/อาจารย์ที่สอน
มีเรื่องเล่าย้อนอดีตหรือหวนอดีตของตนเอง ขณะเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น(ม.ศ.1-2) ต้องวิเคราะห์เองว่า ทำไมเรียกผู้สอนคนนี้คนนั้นว่า ครู คิดเองว่า อ้อผู้สอนคนนี้คงจบชั้นสูงสุดจากวิทยาลัยครู (จบ ป.กศ.สูง) ซึ่งถือว่าเก่งสุดยอดแล้ว ต่อมาเรียนชั้น ม.ศ.3 เรียกครูประจำชั้นของตนเองตามรุ่นพี่ที่เรียกก่อนแล้วว่า อาจารย์ แต่ในใจยังเรียกว่า ครู
ต่อมาทราบว่าครูคนนี้จบจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ (เออมีแบ่งแบบนี้ด้วย) เมื่อเรียนชั้นม.ศ.4-5 ครูผู้สอนจบจาก วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (สอนภาษาไทย โคตรเก่ง) จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ (สอนภาษาฝรั่งเศส สอนภาษาอังกฤษ เก่งมากๆทุกคน) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ (สอนคณิตศาสตร์/ วิทยาศาตร์ สุดยอดเก่งมากๆ ) ก็ต้องเรียกทุกคนว่า อาจารย์ เพราะทุกคนจบปริญญาตรี แต่ความเป็นครูของทั้งครูและอาจารย์เหล่านั้นสูงยิ่ง
หลังจบปริญญาตรีแล้ว พบคำย่อต่อท้ายของคนอื่น อ.บ.(จุฬา) ก็คิดอีก อ้อก็มี อ.บ. ของศิลปากรหรือทับแก้วไง จึงต้องระบุให้ชัดเจน (555) แต่ของผู้เขียนต่อท้ายด้วยดังนี้ ศศ.บ. พ.ม. กศ.ม. (พ.ม. ได้เพราะแม่ขอร้องให้สอบติดตัวไว้ ทั้งที่ พ.ม.เป็นวุฒิ ประมาณว่า อนุปริญญา) สำหรับชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ ไม่มีให้ใช้ แต่เคยใช้นะ เพื่อให้นักศึกษาซึ่งผู้เขียนรับผิดชอบเป็นที่ปรึกษาสารนิพนธ์ของนักศึกษาที่เรียนโดยนโยบายของท่านนายก พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร กองทุนหมูบ้านและชุมชนเมือง มีความเชื่อถือ ใช้เอง ชช. ต่อท้ายชื่อตนเอง ได้มาตั้ง 33 เล่มค้นได้จากหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
การบันทึกครั้งนี้ดูเหมือนผู้เขียนอิจฉาหรือประชดประชันผู้เกี่ยวข้อง แต่จะอย่างไรก็ได้มีบันทึกไว้แล้ว

5 thoughts on “คำนำหน้านามกับความเชื่อมั่น

  • คำว่า ดร. เป็นความภาคภูมิใจของข้าพเจ้าและวงศ์ตระกูลเป็นอย่างยิ่งซึ่งมาจากความเพียรพยายามและความสามารถของข้าพเจ้าอย่างแท้จริง แต่ภาคภูมิใจมากกว่านั้นข้าพเจ้าสามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่คณาจารย์ได้อบรมสั่งสอนไปสร้างและพัฒนาคนให้เป็นผู้ที่รู้จักใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยเฉพาะวงศ์ตระกูลของข้าพเจ้าและลูกศิษย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนผลักดันให้ข้าพเจ้าประสบความสำเร็จในการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือ ดร. โดยคุณกาญจนา หัวหน้าหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์

  • เรื่องนี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากสังคมไทยนะคะว่าควรเขียนอย่างและใช้ตอนไหน หาดูได้จากกูเกิ้ล ส่วนตัวแล้วมีความเห็นสองประการคือ เป็นเรื่องของตำแหน่งกับคุณวุฒิ ดังนั้นเพื่อความสบายใจและอธิบายได้ การใช้นำหน้าในการเอกสารทางราชการ ซึ่งควรจะยึดตามระเบียบสารบรรณ ส่วนการให้เกียรติในฐานะผู้มีการศึกษาในระดับสูงต้องใส่คำนำหน้าว่า ดร. ไปด้วยเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ เช่น การเป็น peer review การประชาสัมพันธ์ถึงจุดเด่นขององค์กร เช่นนี้แล ถามว่าทั้งหมดเป็นเอกสารราชการทั้งหมดไหม ตอบว่าใช่ แต่ในความเห็นตัวเองแบบหลังดูศักดิ์สิทธิ์มากกว่า
    แต่ใครจะใช้อย่างไรไม่ขัดศรัทธา เพราะคนเราคิดต่างกันได้
    การมีบุคลากรที่จบมาในระดับนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีของทุกหน่วยงาน สำหรับพวกเรา มีน้องรสรินทร์ที่จบมาทางด้าน HR ทำเรื่อง KM มาในระดับปริญญาเอก ซึ่งหอสมุดฯเราขาดคนที่มีองค์ความรู้ทางด้านนี้ แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยก็เถอะ จึงถือเป็นโชคดีของพวกเรา และน้องน่าจะเป็นกำลังสำคัญซึ่งส่วนตัวมีความคิดหลายอย่างที่อยากให้ช่วยและเป็นผู้นำทีม ซึ่งความเสมอต้นเสมอปลายของน้องที่พบมาอย่างยาวนานคือความยินดีในการทำงาน วันก่อนพบกันตัวเองได้แต่บ่นๆว่าไม่ค่อยได้เจอกัน จึงแทบจะไม่ได้คุยอะไรกัน
    ช่วงนี้คุณพี่มีภารกิจส่วนตัวอันยิ่งใหญ่จึงขอเว้นไปก่อน อย่าหนีไปไหนก่อนก็แล้วกัน หรือไปคุณพี่ก็จะเรียนเชิญมาบช่วยค่ะ ♥

  • สำหรับพี่ตา คำนำหน้าที่ไม่ใช่ นาง นางสาว คงเป็นไปไม่ได้แล้ว คงเก็บไว้ให้รุ่นลูกแล้วหล่ะ

  • ข้าพเจ้ายินดีให้ความร่วมมือค่ะถ้า พี่ๆเพื่อนๆ ชาวหอสมุด ถ้าพิจารณาแล้วว่าข้าพเจ้ามีความเหมาะสมหรือความรู้ความชำนาญของข้าพเจ้าสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้กิจกรรมนั้นประสบความสำเร็จได้ ขอบคุณค่ะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร