15 ข้อฝึกหาความสุขแบบตัดตรง
สิ่งดีๆ ทำได้ไม่ยาก เริ่มต้นวันละนิด ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ
1. ฝึกมองตัวเองให้เล็กเข้าไว้ หมายความว่า จงเป็นคนตัวเล็ก อย่าเป็นคนตัวใหญ่ จงเป็นคนธรรมดา อย่าเป็นคนสำคัญ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา อย่าไปให้ความสำคัญกับตัวเองมาก อย่าปล่อยให้จิตใจวนไปวนมากับความรู้สึกของตัวเอง เหมือนจมอยู่ในอ่าง ลองเปิดตามองไปรอบๆ แล้วมองให้เห็นว่า คนบนโลกนี้มีมากมายแค่ไหน ตัวเราไม่ได้เป็นศูนย์กลางของโลก ดังนั้นก็อย่าไปให้ความสำคัญกับมันมากนัก ทุกข์บ้าง ผิดบ้าง เรื่องธรรมดา
2. ฝึกให้ตัวเองเป็นนักไม่สะสม หมายความว่า การสะสมอะไรสักอย่างนั้นเป็นภาระ ไม่มีอะไรที่เราสะสมแล้วไม่เป็นภาระยกเว้นความดี นอกนั้นล้วนเป็นภาระทั้งหมดไม่มากก็น้อย ในแง่ของความสุข เราไม่จำเป็นต้องสะสมอะไรเพื่อให้มีความสุข วิธีมีความสุขของคนเรามีมากมายหลายอย่าง และเราไม่ควรเลือกวิธีที่สร้างภาระให้กับตนเอง
3. ฝึกให้ตนเองเป็นคนสบายๆ หมายความว่า อย่าไปบ้ากับความสมบูรณ์แบบ เพราะความสมบูรณ์แบบมันไม่มีจริง มีแต่คนโง่เท่านั้นที่มองว่า ความสมบูรณ์แบบมีจริง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม หัดเว้นที่วางไว้ให้ความผิดพลาดบ้าง ทุกอย่างไม่จำเป็นต้องไร้ที่ติ การผิดบ้างถูกบ้างเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เพียงแต่เราต้องรู้จักปรับปรุงตนเองไม่ให้ผิดพลาดบ่อยๆ ซ้ำๆซากๆ
4. ฝึกให้ตัวเองเป็นคนนิ่งๆ หรือไม่ก็พูดในสิ่งที่ดีๆ หมายความว่า ถ้าอะไรไม่ดีก็อย่าไปพูดมาก ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิด แต่ถ้ามันไม่ดี เป็นไปได้ก็ไม่ต้องพูด เพราะการพูด หรือวิจารณ์ในทางเสียหายนั้น มีแต่ทำให้จิตใจตนเองตกต่ำ และขุ่นมัว คนที่พูดจาไม่ดี แม้ว่าคำพูดจะดูฉลาดหลักแหลมเพียงไรมันก็คือความโง่ชนิดหนึ่ง คนที่พูดแต่เรื่องไม่ดีของคนอื่นนับเป็นคนหาความสุขได้ยากนัก
5. ฝึกให้ตัวเองรู้ธรรมชาติว่า อะไรๆ ก็ผ่านไปเสมอ หมายความว่า เวลามีความสุข ก็ให้รู้ว่า เดี๋ยวความสุขมันก็ผ่านไป เวลามีความทุกข์ ก็ให้รู้ว่า เดี๋ยวความทุกข์ก็ผ่านไป เวลามีสถานการณ์แย่ๆ เกิดขึ้น ก็ให้รู้ทันว่า เรื่องราวเหล่านี้ มันไม่ได้อยู่กับเราจนวันตาย ดังนั้น อย่าไปเสียเวลาคิดมาก อย่าไปย้ำคิดย้ำทำ อย่าไปหลงยึดไว้เกินความจำเป็น ให้รู้จักธรรมชาติของมัน การยึดติดกับวัตถุ บุคคล หรือความรู้สึกจนเกินเหตุ คือปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนเราเกิดความทุกข์ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องรู้ และต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นคนปล่อยวางอะไรง่ายๆ เข้าไว้
6. ฝึกให้ตัวเองเข้าใจเรื่องของการนินทา หมายความว่า เราเกิดมาก็ต้องรู้ตัวว่า เราต้องถูกนินทาแน่นอน ดังนั้น เมื่อถูกนินทาขอให้รู้ว่า “เรามาถูกทางแล้ว” แปลว่า เรายังมีตัวตนอยู่บนโลก คนที่ชอบเต้นแร้งเต้นกา กับคำนินทาก็คือคนไม่รู้เท่าทันโลก แม้แต่คนเป็นพ่อแม่ก็ยังนินทาลูก คนเป็นลูกก็ยังนินทาพ่อแม่ นับประสาอะไรกับคนอื่น ถ้าเราห้ามตัวเองไม่ให้นินทาคนอื่นได้เมื่อไหร่ ค่อยมาคิดว่า เราจะไม่ถูกนินทา ขอให้รู้ว่า คำนินทาคือของคู่กับมนุษย์โลก มีมาช้านานแล้ว แม้แต่พระพุทธเจ้า นักบุญ คนที่สร้างคุณงามความดีไว้กับโลกมากมายยังถูกนินทา แล้วเราเป็นใครจะไม่ถูกนินทา ดังนั้น อย่าไปใส่ใจให้มาก ถ้าอะไรที่ดีเก็บไว้ปรับปรุงตัว อะไรที่ไม่ดี ทิ้งมันไว้ไม่ต้องไปตีคราคาสร้างค่าให้คำพูดไร้สาระ ส่วนตัวเราเอง ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกตนเองให้เป็นผู้ไม่นินทาคนอื่นเช่นกัน
7. ฝึกให้ตัวเองพ้นไปจากความเป็นขี้ข้าของเงิน หมายความว่า เราต้องหัดพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ รถยนต์ใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน นาฬิกาใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน เสื้อผ้าใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน การที่คนเราจะเลิกเป็นขี้ข้าเงินได้ ต้องเริ่มจากการรู้จักเพียงพอก่อน เมื่อรู้จักพอแล้ว ก็ไม่ต้องหาเงินมาก เมื่อไม่ต้องหาเงินมาก ชีวิตก็มีโอกาสทำอะไรที่มากกว่าการหาเงิน การยุติความเป็นขี้ข้าของอำนาจเงินนี้ พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ก็ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ ชีวิตทั้งชีวิตของเรา ก็จะเป็นชีวิตที่เกิดมาแล้วตายไปเปล่าๆ ด้วยเหตุที่ว่า ใช้เวลาหมดไปกับการสะสมเงินทองที่เอาไปไม่ได้แม้แต่บาทเดียว
8. ฝึกให้ตัวเองเสียสละ และยอมเสียเปรียบ หมายความว่า การที่คนๆ หนึ่งยอมเสียเปรียบผู้อื่นบ้าง เป็นเรื่องจำเป็น ใครก็ตามที่บ้าความถูกต้อง บ้าเหตุบ้าผล ไม่ยอมเสียเปรียบอะไรเลย ไม่ช้า คนๆ นั้นก็จะเป็นบ้าสติแตก กลายเป็นคนที่ถูกทุกอย่างแต่ไม่มีความสุข เพราะต้องสู้รบกับคนรอบข้างเต็มไปหมดเพื่อความถูกต้องที่ตนเองยึดมั่นถือ มั่น ซึ่งส่วนใหญ่มันก็เป็นเพียงความถูกต้องที่กิเลสของตัวเองลากไป ไม่ได้เป็นเรื่องที่ถูกต้องตรงธรรมอย่างแท้จริง ดังนั้น การยอมเสียเปรียบ การให้ผู้อื่นด้วยความเบิกบานจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าที่เราคิดกัน มีแรงให้เอาแรงช่วย มีเงินให้เอาเงินช่วย มีความรู้ก็เอาความรู้เข้าไปช่วย ในหนึ่งวัน เราควรถามตัวเองว่า วันนี้เราได้ช่วยใครไปแล้วหรือยัง เราได้เสียเปรียบใครหรือยัง ถ้าคำตอบคือ “ยัง” ให้รู้เอาไว้เลยว่า เราเป็นอีกคนที่มีแนวโน้มจะหาความสุขได้ยากเต็มที
9. ฝึกตัวเองให้เป็นแสงสว่างในที่มืด หมายความว่า ตรงไหนที่มันมืด เราควรไปเป็นดวงไฟส่องทางให้เขา ตรงไหนที่ไม่มีคนช่วย เราควรไปทำ เช่น ลองหาเวลาไปรับประทานอาหารร้านที่ไม่มีลูกค้าเข้า อย่ามุ่งแต่เรื่องกิน ให้การกินของเรามันเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง ร้านเขาไม่มีลูกค้า แล้วเราเข้าไปนั่ง มันไม่ใช่แค่เงิน แต่มันหมายถึงกำลังใจ อย่าคิดถึงการบริการที่ดีที่สุด อย่าคิดถึงรสชาติของอาหารให้มากนัก ให้คิดว่า เรากำลังเป็นผู้ให้ เดินเข้าร้านหนังสือ หนังสือเล่มไหน เก่าที่สุด เราอ่านเนื้อหาแล้วสนใจ หยิบมันขึ้นมาแล้วจ่ายเงิน นำมันกลับบ้าน เหลือหนังสือเล่มสวยๆ ไว้ให้คนอื่นๆ ได้ซื้อได้อ่าน อย่าไปบ้ากับการเก็บสิ่งที่ดีที่สุด อย่าไปบ้ากับการปรนเปรอสิ่งที่ดีที่สุดให้ตนเอง แต่ให้เน้นจิตใจที่ดีที่สุด ใช้วัตถุ ใช้เงินเป็นเครื่องมือในการซื้อจิตใจดีๆ สูงๆ สะอาดๆ ของเรากลับคืนมา วัตถุเป็นเรื่องไม่จีรัง แต่จิตใจดีๆ นั้นเป็นทั้งหมดของชีวิต เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องรู้จักรักษาดูแลเอาไว้ไม่ให้เกิดความเสียหาย
10. ฝึกให้ตัวเองไม่ไหลไปตามอำนาจวัตถุนิยม หมายความว่า ต้องรู้จักยับยั้งช่างใจ และมีปัญญาในการมองเห็นว่า อะไรคือสิ่งจำเป็น อะไรคือสิ่งที่เราถูกโฆษณาหลอก เรากำลังเป็นตัวของตัวเอง หรือเรากำลังบ้ากระแสสังคมอย่างไม่ลืมหูลืมตา ลดความจำเป็นเรื่องแฟชั่น ลดความจำเป็นเรื่องโทรศัพท์ ลดความจำเป็นเรื่องสิ่งของเครื่องใช้ ก่อนจะซื้อ ก่อนจะอยากได้ ให้ลองถามตัวเองว่า เราอยากได้เพราะอะไร เพราะมันจำเป็น เพราะอยากเท่ อยากดูดีในสายตาของอื่น หรือเพราะอะไรกันแน่ๆ ตอบตัวเองให้ได้ชัดๆ ในเรื่องของความจำเป็นนี้ พูดได้เลยว่า ของในชีวิตส่วนใหญ่ที่เราครอบครองกันอยู่
มีไว้โชว์ มากกว่ามีไว้ใช้
11. ฝึกให้ตัวเองยอมรับความจริงง่ายๆ หมายความว่า อะไรที่ทำผิด อย่าดันทุรัง ให้พูดคำว่า ขอโทษครับ ขอโทษค่ะ ขอบคุณครับ ขอบคุณค่ะ ฝึกพูดคำเหล่านี้ให้เป็นเรื่องปกติ ความผิดไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่การผิดแล้วไม่ยอมรับผิดนั้นเป็นเรื่องเสียหาย และส่งผลเสียกับชีวิตเป็นวงกว้าง เพราะการปรับปรุงตัวนั้นมีจุดเริ่มต้นจากการที่คนๆ หนึ่งรู้ตัวว่าทำไม่ดี ดังนั้นคนที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองทำไม่ดีแล้วดันทุรัง ก็คือคนที่ไม่มีโอกาสปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ขอให้รู้ว่า เมื่อเราทำผิด ต่อให้ปากแข็งแค่ไหน ดันทุรังแค่ไหน ผิดมันก็คือผิด หลอกตัวเองได้ แต่หลอกคนอื่นไม่ได้ เหมือนเราบอกว่า ไม่เหม็น แต่กลิ่นเหม็นนั้น ถ้ามันมีจริงมันก็โชยออกมาอยู่วันยังค่ำ
12. ฝึกให้ตัวเองรู้จักเลือกคนต้นแบบที่ถูกต้องตรงธรรม หมายความว่า เมื่อคิดจะเลือกใครสักคนมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต อย่าไปมุ่งเน้นแต่ความสำเร็จด้านเงินทองเพียงอย่างเดียว แต่เราควรให้ความสำคัญกับคุณค่าในด้านอื่นๆ ด้วยเช่น ความดี คุณธรรม ความเสียสละ เราควรเคารพและชื่นชมใครซักคนที่ความดีของเขาไม่ใช่รายได้ของเขา ทุกวันนี้ คำว่าความสำเร็จถูกใช้ไปกับเรื่องของเงินๆ ทองๆ มากเกินไป ใครหาเงินได้มาก แปลว่า คนๆ นั้นประสบความสำเร็จมาก ตรงนี้เป็นการให้คุณค่าที่ผิดพลาด การคิดเช่นนี้ย่อมเป็นการปลูกฝั่งค่านิยมในระดับจิตวิญญาณที่ทำให้เราให้ตก เป็นทาสของเงิน เมื่อเราเป็นทาสของเงินเสียแล้ว เราก็จะเป็นคนที่ฝากความสุขของเราไว้กับเงินด้วย เราเลือกต้นแบบอย่างไร ชีวิตของเราก็จะมุ่งหน้าไปทางนั้น สังคมจะดีขึ้นได้ก็เริ่มจากทัศนคติของเราตรงนี้นั่นเอง
13. ฝึกให้ตนเองเป็นคนไม่ทะเลาะกับคนใกล้ชิด หมายความว่า เราต้องไม่เป็นคนหน้าชื่นอกตรม คือยิ้มไปทั่วกับคนนอกบ้าน แต่กลับมาทะเลาะกับคนที่บ้าน ขอให้ใช้คนที่บ้านเป็นเครื่องมือฝึกจิตใจของตนเอง อะไรที่ยอมได้ก็ขอให้ยอม เสียเปรียบคนในครอบครัวให้มากที่สุด ดีกับเขาให้เหมือนเขาเป็นคนเดียวกับเรา อย่าเป็นคนที่ไม่ได้เรื่องนอกบ้าน แต่กลับมาเก่งในบ้าน เพราะมันจะสร้างแต่ความทุกข์ให้ชีวิต ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตคนเรา ถ้าหาความสุขจากครอบครัวไม่ได้ ความสุขที่อื่นก็ไม่ต้องพูดถึง ต่อให้หลอกคนทั้งโลกได้ว่าชีวิตประสบความสำเร็จ แต่ภาพที่สร้างขึ้นมา ก็เป็นแค่ภาพลวงตาที่จะย้อนกลับมาสร้างความละอายใจให้ตัวเองอยู่วันยังค่ำ ยอมพ่อแม่ ยอมลูกเมีย ยอมสามี ยอมคุณตาคุณยายคุณปู่คุณย่า สิ่งดีๆ ที่ทำแล้วชื่นใจก็ขอให้ทำให้บ่อย คำพูดดีๆ ที่พูดได้ก็ขอให้พูด ครอบครัวคือรากของมนุษย์ ถ้ารากของชีวิตเน่า ส่วนที่เหลือก็เน่าทั้งหมด
14. ฝึกตัวเองให้เข้าใจคำสอนของศาสนาตน หมายความว่า เรานับถือศาสนาอะไรอยู่ ก็ต้องเข้าใจคำสอนของศาสนานั้น แม้ทำตามคำสั่งสอนยังไม่ได้ แต่ก็ต้องเข้าใจถึงแก่นแท้ ขอให้ถามตัวเองว่า ทุกวันนี้ หัวใจของศาสนาตัวเองคืออะไร เรารู้แล้วหรือยัง หยิบกระดาษขึ้นมาหนึ่งแผ่น แล้วลองเขียนดู ถ้าไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรลงไป ก็แปลว่า เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับศาสนาของเรา อย่าหลอกตัวเองว่าเรารู้แล้ว ถ้าไม่มีอะไรจะเขียน นึกเรื่องจะเขียนไม่ออก ก็แปลว่าเราไม่รู้ เรียบเรียงไม่ได้ ความคิดยังไม่ตกผลึกทั้งๆ ที่นับถือศาสนานี้มาแล้วชั่วชีวิต ย่อมหมายความว่า เราเป็นคนไม่ใส่ใจในศาสนาตนเองเท่าที่ควร ไม่ต้องไปตกใจหรือรู้สึกผิดบาป ทุกอย่างแก้ไขได้ ขอให้รีบปรับปรุงตัวเสียแต่วันนี้ก็ยังไม่สาย ศาสนาเป็นรากของจิตวิญญาณ ไม่ใช่สิ่งที่เราจะทิ้งๆ ขว้างๆ แล้วค่อยไปใส่ใจในวัยชรา เพราะถึงเวลานั้น ก็คงไม่ทันการแล้ว
15. ฝึกตัวเองให้ค่อยๆ ทำตามสิ่งที่ศาสนาของตนสั่งสอนจนสำเร็จ หมายความว่า เมื่อรู้ว่าศาสนาของตนสอนอะไร ก็ขอให้ทำ ทำด้วยความเบิกบาน ไม่จำเป็นต้องทำได้ทั้งหมด แต่ขอให้ทำเรื่อยๆ ทำให้ดีขึ้นทุกวัน อย่าน้อย ในแง่ของศีลธรรมก็ควรจะทำให้ได้ อย่าน้อยที่สุด ก็ขอให้อายตัวเองเมื่อคิดจะพูดโกหก เมื่อจะเบียดเบียนผู้อื่น เมื่อจะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องตรงธรรม บุคคลในอุดมคติของแต่ละศาสนาไม่ได้เป็นกันง่ายๆ แต่ถ้าไม่เริ่มก็ไม่มีโอกาสไปถึง สำหรับคนที่ไม่มีศาสนา หรือไม่นับถืออะไร ก็ขอให้นับถือความดี ซื่อสัตย์กับความดี
คาถาง่ายๆ ที่สำหรับผู้ไม่มีศาสนาก็คือ
“เราไม่ชอบสิ่งไหนก็อย่าไปทำสิ่งนั้นกับคนอื่น”
ส่วนศีลสำหรับคนไร้ศาสนานั้นมีอยู่เพียงข้อเดียวนั่นก็คือ
“อย่าขโมยความดีไปจากจิตใจของตนเอง”
คาถาหนึ่งบท กับศีลหนึ่งข้อ ถ้าทำได้ แม้เป็นคนไม่มีศาสนา ก็ไม่เป็นภาระต่อโลกในนี้ เรียกได้ว่าเป็นพลเมืองที่ดีของโลกและเพื่อนมนุษย์แล้วโดยสมบูรณ์
วิธีหาความสุขทั้ง 15 ข้อนี้คือสิ่งที่ทำได้ทันที แบบไม่ต้องรีรอ ไม่ใช่เรื่องยากหรือง่าย อยู่ที่จะทำหรือไม่ทำ ข้อไหนสะดวกใจให้ทำก่อน ข้อไหนรู้สึกว่ายากก็เว้นเอาไว้ ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ เก็บไปทีละข้อ
จนครบทั้ง 15 ข้อ ถึงแม้คุณไม่ได้บรรลุธรรมแต่คุณก็จะเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าที่สุดคนหนึ่งที เดียว และหากใครเบื่อการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อทำทั้ง 15 ข้อนี้ได้ก็มีโอกาสบรรลุเป็นอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งในชาติปัจจุบัน เปรียบเหมือนคนที่เตรียมความพร้อมมาดี เพียงเติมส่วนที่ขาดเล็กน้อยก็บรรลุถึงฝั่งฝันได้ไม่ยาก
ขอให้ทุกคนสนุกกับการหาความสุขให้ตนเองในแบบง่ายๆ
ยิ้มทุกวัน มองฟ้าให้เป็นฟ้า มีปัญญาสามารถเปลี่ยนโลกแห่งนี้
ให้เป็นสวนดอกไม้แห่งชีวิตได้สำเร็จกันทุกคน…
บทความจาก : (พศิน อินทรวงศ์)
One thought on “15 ข้อฝึกหาความสุขแบบตัดตรง”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
ที่มา ยังไม่ชัดเจน(ไม่ครบถ้วน) ขอให้แจ้งที่มาใหม่ด้วย
แล้วกอบำได้กี่ข้อ สำหรับพี่แมวทำได้ ข้อ 1 3 5 – 12 เท่านั้น