ไปสัมมนาประจำปี 2556
ในปีนี้พวกเราไปสัมมนาประจำปีของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ไปกันที่แก่งกระจานโบ๊ทเฮ๊าส์รีสอร์ท ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2556 ปีนี้มีอาจารย์สกุล บุณยทัต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร
อาจารย์ท่านได้ใช้กลวิธีเล่าเรื่องหนังสือ โดยดึง “แก่น” ของหนังสือ จำนวน 13 เรื่อง มานำเสนอ ร้อยเรียงเพื่อให้ขบคิด ให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง สาระที่ฟังแล้วสามารถเข้าใจได้ถือเป็นการตีความตามประสบการณ์ของแต่ละคนคือ การรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองเข้าในมนุษย์ เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการเปิดใจ ด้วยการเปิดใจ ใช้ความรัก สร้างแรงใจ หาความสุข รู้จักใช้ชีวิต สติ คบเพื่อน ให้โอกาสตัวเอง มีแรงบันดาลใจ เรียนรู้ มีเหตุผล หนังสือเล่มสุดท้ายที่อาจารย์แนะนำคือ อ่านเถิดชาวไทย
ย้อนกลับมาที่ของเรามีการบอก ชวนให้อ่านหนังสือ? อาจมองว่าไม่บังคับ หรืออาจมองว่าบังคับ มีการเขียนเรื่องราวสรุปย่อหรือเผยแพร่มากมาย คำถามที่เราจะต้องตอบตัวเองแบบจริงแท้ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องบอกใคร) ว่าเราอ่านเพราะอะไร เราได้อะไรจากการอ่านแบบจริงๆ เราทุกข์หรือสุข
หนังสือที่อ่านไปแต่ละเล่มได้สะสมเป็นภูมิปัญญาให้กับตัวเองมากน้อยแค่ไหน และการช่วยอะไรได้บ้างในการใช้ชีวิตแบบหนังสือที่อาจารย์แนะนำ ที่ keyword ประมาณถึงคนอ่านว่าควรจะต้อง “เปิดใจ ใช้ความรัก มีแรงใจ มีความสุข รู้จักชีวิต มีสติ คบเพื่อน หาและให้โอกาส สร้างแรงบันดาลใจ เรียนรู้ และมีเหตุผล”
และเราคิดอย่างไรกับข้อความ “เครื่องมือสำคัญที่จะก่อให้เกิดสติ ปัญญาและความเพียรที่บริสุทธิ์คือการอ่าน
ส่วนครึ่งบ่ายเป็นกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ส่วนวันรุ่งขึ้นเป็นการไปทัศนศึกษาเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง ทำให้เห็นวิธีการทำงาน ทัศนคติ และความคิดสร้างสรรค์ของคนทำงาน รวมทั้งเรื่องราวของคนที่อยู่ในนั้น
นายแพทย์นิวัฒน์ ลีวงศ์วัฒน์ เขียนเรื่อง ทำ OD อย่างไร.. ไม่ให้เสียเที่ยว.. ไว้ที่ http://goo.gl/cFHSP อ่านแล้วน่าสนใจทีเดียว
OD หรือ Organization Development หรือที่หน่วยงานภาคเอกชนเขารู้จักกันในชื่อว่า “Team Building”นั่นเอง ความหมายของมัน ก็คือ “การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กรให้เป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยใช้กระบวนการทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ในการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการ ปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนคติ ซึ่งมุ่งเน้นการการปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของตนเองเป็นสำคัญ”
เพราะฉะนั้น ในการไป OD แต่ละครั้ง ประโยชน์ที่แท้จริงของ OD จึงไม่ใช่การที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงคนอื่นได้ แต่กลับเป็นการที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ต่างหาก ดังนั้น เวลาที่เรากลับจาก OD แล้ว แต่เรากลับมีความรู้สึกว่า”ทำไมคนนั้นคนนี้ไม่เห็นจะเปลี่ยนเลย คนที่เลวยังไงก็เลวยังงั้น” แสดงว่าคนที่ไม่เปลี่ยนแน่ๆคนหนึ่ง ก็คือ”เรา” เพราะถ้าเรามีการเปลี่ยนแปลงความคิดและทัศนคติในทางที่ดีขึ้น เราก็จะสามารถมองเห็นสิ่งดีๆในตัวผู้อื่นได้มากขึ้น แม้ว่าเขาจะยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลยก็ตาม
ผู้บริหารหลายท่านอาจจะรู้สึกดีใจ ที่บรรยากาศขององค์กรดีขึ้นในชั่วข้ามคืนของการทำ OD (บุคลากรเข้าอกเข้าใจกัน ให้อภัยกัน เลิกหวาดระแวงกัน ทุกคนหันหน้าเข้าหากัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน) และยังแอบหวังอีกด้วยว่าบรรยากาศดีๆแบบนี้จะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ แต่ฝันก็ต้องสลายเมื่อกลับจาก OD แล้ว ประมาณไม่เกิน 3 เดือน ทุกสิ่งทุกอย่างก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม แล้วเราก็มานั่งสงสัยกันว่า “ทำไมน้าาา?..อุตส่าห์เสียเงินเสียทองไปตั้งมากมาย สุดท้ายก็เหมือนเดิม”
การที่เราจะปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของคนในองค์กรได้นั้น เราต้องเข้าใจหลักในการทำงานของสมองเสียก่อนว่า สมองก็เปรียบเสมือน”เครื่องจักรผลิตความคิดและทัศนคติ” หลักการทำงานของมัน มีอยู่ว่า “ไม่ว่าเราจะเอาวัตถุดิบ(ข้อมูล)อะไรใส่เข้าไป ผลผลิต(ความคิดและทัศนคติ)ที่ได้ ก็จะเป็นแบบนั้น”ถ้าเราใส่ข้อมูลที่เป็นลบเข้าไปตลอดเวลา ความคิดและทัศนคติที่ได้ก็จะเป็นลบ แต่ถ้าเราเลือกใส่แต่ข้อมูลที่เป็นบวก ความคิดและทัศนคติที่ได้ก็จะเป็นบวก
ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจอะไรที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วง สั้นๆระหว่างการทำ OD เพราะในช่วงที่ทำ OD นั้น ผู้เข้าสัมมนาจะได้ข้อมูลที่เป็นบวกเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการที่เราได้ไปอยู่ในสถานที่ที่สวยงาม บรรยากาศที่ผ่อนคลาย อาหารอร่อย กิจกรรมสนุกสนาน ความรู้สึกดีๆและกำลังใจจากเพื่อนๆ ฯลฯ แต่เมื่อเดินทางกลับจากการสัมมนา กลับมีแต่สิ่งที่เป็นลบรออยู่มากมาย เพราะฉะนั้นก็คงไม่แปลกที่ระดับความคิดและทัศนคติจะค่อยๆเป็นลบมากขึ้น และสุดท้ายทุกอย่างก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม
โดยสรุปแล้วกิจกรรม OD เป็นการสัมมนาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและทัศนคติได้อย่างรวดเร็ว ( Dramatic) แต่ผลของมันจะคงอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น (ประมาณ 3 เดือน)
หากเราต้องการที่จะรักษาบรรยากาศที่ดีขององค์กรเอาไว้ให้ได้นานๆ เราจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบ (System)ที่สามารถเติมข้อมูลที่เป็นบวก (Positive Data) ให้ผู้คนในองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง มีกระบวนการ (Process) ที่ชัดเจน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั่วทั้งองค์กร
โดยเริ่มที่ผู้บริหารก่อน (ผู้นำทำเป็นตัวอย่าง) แล้วจึงขยายผลสู่ผู้ปฏิบัติ ใช้การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcements) ในการสร้างแรงจูงใจทั้งภายนอกและภายใน (External & Internal Motivation) จนกระทั่ง ระบบใหม่นี้ได้หลอมรวมเป็นวัฒนธรรมขององค์กรในที่สุด ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็คงยังต้องวนเวียนอยู่กับการแก้ปัญหาเดิมๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น
……….. เอามาฝากให้อ่านเล่นๆกันค่ะ………………
6 thoughts on “ไปสัมมนาประจำปี 2556”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
เราเห็นด้วยนะในสิ่งที่คุณสมฯ ว่ามา
และเราก็เชื่อว่า “ทุกคน”
“ต้องการที่จะรักษาบรรยากาศที่ดีขององค์กรเอาไว้ให้ได้นานๆ”
ไม่ใช่แค่…ชั่วครู่…ชั่วยาม…ตามกิจกรรมที่สรุปว่า Dramatic
โดยทฤษฎีที่คุณสมฯ ยกมา ควรเริ่มจากผู้บริหาร…รึ??
ก็อาจจริงอยู่นะ แต่สิ่งสำคัญที่สุด เราว่า ไม่ว่าจะ “เริ่มที่ใคร”
ก็ต้องเริ่มด้วยความ “จริงจัง” และ “จริงใจ”
และที่สำคัญยิ่งกว่า คืออย่า “คิด” เข้าข้างตัวเอง
เพราะบางครั้งเสียงพึมพำที่เราไม่ได้ยิน มันไม่ได้เป็นเพียง “ใบไม้ไหว”
หากแต่มันเป็น “ลมหายใจ” ของ “เพื่อนร่วมงาน”
ที่หลายครั้งเกิดอาการ “หมดใจ” กับอะไรๆ ที่ดูเหมือนจะ
“ไม่มีเหตุผล” ที่ดี “เพียงพอ” และ ฯลฯ
เราอยากเห็นนะ
ผู้นำทำเป็นตัวอย่าง แล้วขยายผลสู่ผู้ปฏิบัติ
อย่างสมเหตุสมผล บนพื้นฐานของการยอมรับและเข้าใจ
ซึ่งคงมิใช่ความเข้าใจฝ่ายเดียว แต่ร่วมกัน
เราเห็นด้วยกับบทความที่บอกว่าทุกอย่างต้องเริ่มจาก “ตัวเรา” แต่เป็นปรกติของคนทั่วๆไปที่มีสายตาไว้มองคนอื่น และอดเปรียบเทียบกับตัวเองไม่ได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้อง “เคารพ” ซึ่งกันและกัน
เรื่องเสียงต่างๆในที่ทำงานเป็นเรื่องปรกติ เหมือนกับการถ่ายรูปอยู่ที่ใครจะเลือกโฟกัสตรงไหน ที่สำคัญคือเรามักเลือกในแบบที่ถูกใจ การตัดสินก้อแล้วแต่รสนิยม
ส่วนเรื่อง “ผู้นำ” โดยส่วนตัวแล้วไม่คิดเพียงแค่ “ผู้บริหาร” คนกลุ่มนี้แค่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ เป็นหัวโขน มงกุฎ หรือชฎาก็ว่ากันไป เพราะจริงๆ แล้วทุกองค์กรในโลกนี้มีผู้นำแบบไม่เป็นทางการมากมาย
ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นใคร “ความจริงจังและจริงใจ” อย่างที่หนูเล็กบอกเป็นเรื่องที่ต้องยึดถือ ซึ่งเรามองว่าต้องทำควบคู่กับครรลองขององค์กร
เราก็ฝันแบบนั้นนะหนูเล็ก แต่พอเราก้มมองตัวเองแล้วทบทวนย้อนกลับไป บางครั้งเราอาจสร้าง เสริม กระทั่งดับฝัน ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่สิ่งที่เราชอบคือที่นี่ยังมีพื้นที่ให้เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเรายังมีความสุขทุกวันที่มาทำงาน
ปล.เราสองคนเขียนคอมเม้นท์กันเรียบร้อยมาก ไม่มีศัพท์แสลงหรือภาษาวัยรุ่นกันแม้สักนิด …. (อยากหัวเราะเป็นตัวเลข)
เราแค่เพียงทำหน้าที่สายลม
ช่วยพัดใบไม้ที่มักจะไหวแผ่วเบา
ทำให้บางครั้งชฎาที่แนบข้างใบหูปิดกั้นไม่ได้ยิน
โดยส่วนตัวเราเชื่อว่า “การเปิดใจรับฟัง”
แม้เสียงนก เสียงกา มี “สาระ” เสมอ
อย่างน้อยที่สุด มันก็ช่วยบอกเวลาเช้า-เย็น
ขอบคุณและยินดีแลกเปลี่ยน “ฝัน”
ว่าแต่ จะทำให้มัน “จริง”
ได้มั้ย ยังไง นี่สิน่าคิดนะ…เราว่า
การไปสัมมนาคราวนี้ ดูเผิน ๆ เหมือนไม่ได้อะไร มีเพื่อนร่วมงานหลายคนกลับก่อนจบโครงการเนื่องจากมีธุระจำเป็นส่วนตัว แต่สำหรับเราแล้ว มันได้อะไรมากมายถึงแม้จะไปกับเพื่อนร่วมงานกลุ่มเดิม ๆ ก็ตาม มันคุ้มกับที่ให้คุณสามีลางานมาจากแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อมาแตะมือสับเปลี่ยนดูแลคุณลูก ๆ ของเรา และก็ต้องรีบเดินทางกลับแม่เมาะเมื่อเราเสร็จภารกิจในการสัมมนานี้
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือการได้ผ่อนคลายจากการทำงาน ได้ทำกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ได้พูดคุยแบบที่ไม่มีเรื่องงานมาเกี่ยวข้อง ได้เห็นพฤติกรรมแบบหลุดโลกของเพื่อนบางคน ได้ฟังอาจารย์สกุลบรรยายและเล่าเรื่องราวในอดีตซึ่งเราเคยแต่ดูในหนังไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องจริง ได้เข้าไปดูงานที่เรือนจำกลางเขากลิ้ง ซึ่งเคยเดินทางผ่านหลายครั้งแต่ไม่เคยคิดจะเข้าไป ไม่คิดเลยว่าจะมีอะไรมากมายเกินความคาดหมาย ได้ไปกินฟรี นอนฟรี ถึงแม้จะไปเที่ยวพักผ่อนบริเวณนี้หลายครั้งแต่ก็ไม่เคยเข้าไปนอนที่รีสอร์ทแห่งนี้ (เพราะต้องเสียเงินค่ะ)ได้อะไรอีกมากมาย สาธยายไม่หมดแล้วค่ะ อย่างนี้เรียกว่าได้ความสุขจากการไปสัมมนาหรือยังค่ะ
สิ่งหนึ่งที่อาจารย์สกุล บุณยทัต ให้ข้อคิดว่า การทำงานร่วมกันในองค์กรเดียวกัน เมื่อไรที่จิตของเราเกิดริษยาขึ้นมา มันจะเป็นการเผาไหม้ในจิตใจของตัวเรา เมื่อไรที่เราไม่ชื่นชมกันเอง ริษยากันเอง แล้วการทำงานจะมีความสุขได้อย่างไร ชอบประโยคนี้มาก เพราะองค์กรแห่งความสุขนั้น นั่นหมายถึงว่า องค์กรที่มีคนมาอยู่ร่วมกัน และมีเป้าหมายร่วมกัน และช่วยกันทำตามเป้าหมายที่วางไว้ และงานที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้น บุคลากรในองค์กรต้องมีความสุขในการทำงาน
หนูชอบความเป็นจริงที่ว่ามันจะเป็นจริงและยั่งยืนอย่างไร เรื่องแบบนี้คลาสสิคค่ะ เป็นความอมตะนิรันดร์กาล
ส่วนเรื่องริษยา ที่แปลว่า ไม่อยากให้คนอื่นได้ดีนั้น หนูปองมีความเห็นว่าอย่าได้ไปผลีผลามตีความใครเค้าเข้า มันเป็นบาป บางทีใครคนนั้นอาจหวังดี แต่อาจส่งสารสูงๆต่ำๆ ไม่ค่อยจะถูกใจคนที่รับไปงานเลยเข้าทั้งสองฝ่าย แล้วแต่ละฝ่ายมีพวกอีก คราวนี้เลยสนุกกันใหญ่ 🙂 ซึ่งหนูมองว่าไม่ใช่เรื่อง ริษยา เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่ก็ยากอีกนั่นแหละพี่
อาจารย์พูดอีกเรื่องหนึ่งคือการหลุดจากอัตตา อันนี้หนูชอบมากที่สุด
เราเม้นท์กันยาว แต่ว่าแฮปปี้กันดีค่ะท่านผู้อ่าน