การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 เรื่อง การพัฒนาห้องสมุดสู่สากล

วันนี้ได้ไปร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 และประชุมวิชาการ เรื่อง การพัฒนาห้องสมุดสู่สากล  ของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ  โดยไปกับพี่สุนีย์ ปีนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา โปรดให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จแทนพระองค์ ทรงเปิดการประชุม หลังจากพิธีการมอบรางวัลต่าง ๆ ผ่านไปแล้ว จึงเข้าสู่การบรรยาย เริ่มต้นด้วย
 เรื่องที่  1. เรื่องยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการศึกษาไทยในประชาคมอาเซียน  โดย ดร.ประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ   สรุปใจความสำคัญได้ ดังนี้ ประเทศไทยมีการกำหนดนโยบายการดำเนินงานด้านการศึกษา ไว้ 5 ประการ คือ  (1) เผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และเจตคติที่ดีเกี่ยวกับอาเซียน เพื่อเตรียมความตระหนักความพร้อมของครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษาและประชาชน (2) พัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนให้มีทักษะที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ทางด้านภาษาทัังภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้าน รวมทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (3)พัฒนามาตรฐานการศึกษา (4) เตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเสรีทางการศึกษาในอาเซียนควบคู่กับการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงาน (5)พัฒนาเยาวชนผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน
ในระดับโครงการและกิจกรรมเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมทางด้านการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการ เช่น  การจัดตั้งสถาบันนานาชาติเพื่อพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา, การพัฒนากรอบคุณวุฒิแห่งชาติ, โครงการ Education Hub Schools, โครงการ Spirit of ASEAN , การพัฒนาหลักสูตรและสือเกี่ยวกับอาเซียนศึกษา, การส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษและการเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้าน, การพัฒนาศักยภาพครู, การส่งเสริมการเรียนการสอนทางไกล, โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษามาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย, โครงการเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เกษตรนานาชาติ, โครงการพัฒนานโยบายการศึกษาสู่อาเซียน : กรณีศึกษาไทย ลาว เวียดนาม ซึ่งในการดำเนินการต่าง ๆ จะสำเร็จได้ทันในปลายปี 2558 หรือไม่เพียงใดนั้น ไม่สามารถยืนยันได้ แต่ ดร.ประพัฒน์พงศ์ ได้แสดงความเห็นไว้บางประการ ดังนี้
ทัศนะบางประการเกี่ยวกับความพร้อมของการศึกษาไทย
ประการที่ 1  ความชัดเจนและต่อเนื่องของนโยบาย ได้แก่ในเรื่องของ การศึกษาและการเตรียมความพร้อมของนักเรียนหรือบรรณารักษ์, การพัฒนาขีดความสามารถด้านภาษา และการปรับปรุงหลักสูตร
ประการที่ 2 ประสิทธิภาพของกลไกความร่วมมือที่มีในปัจจุบัน ได้แก่ การศึกษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรม, ขอบข่ายงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN) , ภารกิจหลักของ SEAMEO, ศักยภาพของภาคเอกชนและประชาชน
ประการที่ 3 บทบาทของห้องสมุด ได้แก่ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สถานการณ์จะเปลี่ยนไป คนไทยต้องเรียนรู้ใหม่ (รุ้เขา รู้เรา รู้อาเซียน รู้โลก), องค์ความรู้เกิดเร็ว ล้าสมัยเร็ว, เทคโนโลยีทำให้วิธีเรียน วิธีสอนเปลี่ยนไป, สื่อการเรียนรู้เปลี่ยนไป, บทบาทของห้องสมุดเปลี่ยนไปเป็น Knowledge Management และ บทบาทของบรรณารักษ์เปลี่ยนไป (Search Engine)
เรื่องที่   2. สถานภาพของบรรณารักษ์และบุคลากรที่ปฏิบัติงานห้องสมุด โดยแบ่งออกเป็นห้องสมุดโรงเรียน และห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา  ห้องสมุดประชาชนสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ห้องสมุดประชาชนสังกัดกรุงเทพมหานคร
ท่านแรก คือ ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า  รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  อภิปรายเกี่ยวกับ ความสำคัญของห้องสมุด และบรรณารักษ์
ท่านที่สอง คือ นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งติดราชการและไม่สามารถหาตัวแทนได้ จึงไม่ได้มีการอภิปรายในส่วนของอุดมศึกษา
ท่านที่สาม คือ คุณณมาพร ธรรมจง และคุณวีระยา วังกานนท์ เจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ก.พ. อภิปรายเกี่ยวกับ ตำแหน่งบรรณารักษ์ในราชการพลเรือนสามัญ มาตรฐานกำหนดตำแหน่งตาม พ.ร.บ. 2551 กำหนดให้บรรณารักษ์เป็นข้าราชการประเภทวิชาการ มีการจัดระดับตำแหน่ง เป็น ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ ระดับเชี่ยวชาญ และระดับทรงคุณวุฒิ โดยมีปัจจัยสำคัญในการกำหนดระดับตำแหน่งให้สูงขึ้น ได้แก่
1. ความรู้และทักษะที่จำเป็นในงาน คือ การนำองค์ความรู้มาพัฒนาให้งานดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ, มีการบริหารจัดการงานเป็นทีมงานและให้คำปรึกษาทีมงานและผู้ใช้บริการ, มีการติดต่อสือสารการทำงานกับผู้อื่น
2. ความสามารถในการแก้ปัญหา คือ สามารถแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี, มีการติดตามผลการปฏิบัติงานของห้องสมุด, เสนอแนวทางการปรับปรุงห้องสมุดให้ทันสมัย
3. ภาระความรับผิดชอบ คือ ได้รับอำนาจในการควบคุม กำกับ ตรวจสอบและบังคับบัญชา, มีการพัฒนารูปแบบงานวิชาการและงานบริการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นวิชาการที่ส่งผลต่อหน่วยงาน, ลักษณะงานบรรณารักษ์ส่งผลกระทบต่อภารกิจหลักของหน่วยงาน เช่นงานวิจัย และสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ท่านที่ สี่ คือดร.ชัยยศ  อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการ สนง.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบโรงเรียน อภิปรายเกี่ยวกับการทำงานของบรรณารักษ์ที่อยู่ในระบบการศึกษานอกโรงเรียน ว่า ทุกคนมีความเสียสละและตั้งใจทำงาน ทั้ง ๆ ที่มีอุปสรรคและขาดงบประมาณ
ท่านที่ห้า คือ คุณปราณี สัตยประกอบ  ผอ.สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพฯ อภิปรายเกี่ยวกับความพร้อมของกรุงเทพฯ ในการเป็นเมืองอ่านของโลก ว่ากรุงเทพฯได้สร้างห้องสมุด โดยการใช้งบประมาณ และการใช้โครงการ CSR ของหน่วยงาน บริษัทต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการสร้าง ออกแบบ และการดำเนินการห้องสมุด โดยเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลและทำงานเป็นอาสาสมัครในห้องสมุด
วันนี้ปิดการอภิปรายตอนห้าโมงเย็น พรุ่งนี้ยังไปฟังอีกหนึ่งวัน แล้วจะกลับมาเล่าให้อ่านต่อไปค่ะ..
 

One thought on “การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 เรื่อง การพัฒนาห้องสมุดสู่สากล

  • อยากให้มาเล่าแบบตัวเป็นๆ เรื่องที่เจ้าหน้าที่ ก.พ.เล่าเรื่อง บรรณารักษ์ ข้าราชการประเภทวิขาการ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร