Blog Book Blook Bog Bog

22 May 2009
Posted by Somkieat Chatchuenyod

จากจำนวน Blog ที่ช่วยกันเขียนขึ้นกันอย่างมากมายกระจาย… จากที่เคยพูดถึงกระบวนการ e-publishing ในตอนงานสัมมนาปีที่แล้ว จากที่พี่ปองได้ติดสินบนว่าจะทำเป็นหนังสือออกมาเมื่อเขียนครบ 100 เรื่อง และเมื่อแต่ละคนเขียนครบ 100 เรื่อง หรือพอที่จะมีเนื้อหาในการทำหนังสือได้
อ้อก็พอดีเขียนเกี่ยวกับ Blook ลูกผสมของ Blog กับ Book เราได้เริ่มกระบวนการในการผลิตเนื้อหา ทั้งที่เป็นเรื่องเป็นราว เรื่องสั้น ความรู้ในเรื่องสมุนไพร ความรู้ในการจัดหนังสือขึ้นชั้น เรื่องราวของสมาชิก(Bog Bog) ที่มาอาศัยใบบุญรอบๆ ห้องสมุด
การเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน การสังเกตสังกาสิ่งและเรื่องราวรอบตัวรอบบ้าน การเริ่มจัดการเรื่องเนื้อหาก็เกิดขึ้นจาก comment ของแต่ละคนและพี่แมวเจ้าแม่แห่งการตรวจและผลักดัน การรวบรวมเป็นเล่มเป็นเรื่องราว อีกบทหนึ่งที่ Web Master ซึ่งอาจจะมีหลายคนหรือทุกคนควรพร้อมจะมีบทบาทนี้ คือต้องมีการเป็น Content Master คอยตรวจดู สอดส่อง เรียบเรียงเรื่องราว หรือความรู้เหล่านี้ออกมา วิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อให้เห็นรูปร่างและแนวทางต่อไป
บทต่อไปที่ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำคือกระบวนการการออกแบบรูปเล่ม ให้สอดคล้องกับเนื้อหาและความสัมพันธ์ของเนื้อหาระหว่างกันหรือข้ามเว็บเมื่อมีการเปิดออกสู่โลกภายนอกและแบ่งปันกันก็จะน่าจะเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงการหยิบจับทั้งความรู้สึกร่วม และข้อมูลมาใช้ได้ทั้งที่เป็นความรู้ และเป็นการเชื่อมต่อเนื้อหาเรื่องราวต่อๆไป กระบวนการในระหว่างก่อน ในระหว่าง และหลัง การผลิตเป็นรูปเล่มน่าจะมีอีกมากซึ่งก็คงต้องพึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือและสิ่งพิมพ์ให้ความรู้ คุยกันและสรุปกระบวนการออกมา
อย่างไรก็แล้วแต่ กระบวนการผลิตรูปแบบในการนำเสนอเนื้อหา เช๋นการเขียนเรื่องลงใน Blog การส่ง Blog ด้วย feed และแนวคิดในการทำ Blook ซึ่งก็สามารถนำ Feed มาเป็นตัวช่วยส่ง Blook ไปให้ผู้อ่านซึ่งสามารถอ่านด้วย Feed Reader บน Google Reader หรือ ตัวอื่นๆ ในส่วนของการทำรูปเล่มก็มี เว็บไซต์มากมายที่เสนอบริการในการทำ Blook เช่น www.lulu.com, www.hackoff.com, http://www.sharedbook.com/ เป็นต้น
เว็บไซต์เหล่านี้ให้บริการตั้งแต่โยนหน้า Blog หรือ Blog ไปที่เว็บไซต์แล้วแปลงออกมาเป็นหนังสือในรูปแบบไฟล์ชนิดต่างๆ ตั้งแต่รูปแบบหน้าเว็บ ไฟล์(HTML) PDF และอื่นๆ รวมถึงการทำธุรกิจ e-commerce ให้บริการหน้าร้านวางลิงค์เชื่อมต่อไปยังรายการ Blook จนถึงทำการขาย ทำให้เห็นได้ว่าต่อไปร้านหนังสือบนดินน่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเหมือนกับที่หนังสือพิมพ์ถูกคลื่นสารสนเทศลูกใหญ่นี้ซัดให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอและหาข้อมูลข่าวสารมาอยู่บนสื่ออื่นๆ ซึ่งรวมถึงกระบวนการผลิตตลอดกระบวนการที่รวดเร็ว ทำให้ลดขั้นตอนไปได้มากและกระทบกับการทำงานและคนที่ทำงานกับหนังสือและสิ่งพิมพ์ไปไม่มากก็น้อย เอ่อแล้วห้องสมุดจะอยู่ในขั้นตอนไหนของวงจรการจัดการหนังสือนะ?? เราอาจจะต้องทดลองออกแบบและทำผลผลิตอย่างเรียบง่ายและขนาดเล็กออกมาในการทำ Blook ของเราเอง อาจจะไม่สวยงามเป็นรูปหนังสือที่เห็นคาดหวังแต่ก็น่าจะเป็นก้าวแรกที่จะมีก้าวต่อไปและอีกก้าว(ก่อนเมา)
ในขณะเดียวกันในส่วนวัสดุ อุปกรณ์ ที่ใช้ในการบันทึกเรื่องราวก็หนีไม่พ้นจากการกระทบของคลื่นนี้ กระดาษซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการคิดค้นเพื่อลดภาวะโลกร้อนด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่และการคิดกระบวนการผลิตใหม่โดยการลดการใช้เยื่อไม้ แต่ด้วยขนาด น้ำหนัก และมิติ ต่อหนังสือ 1 เล่มนั้นที่ต้องแบกหามไปและเมื่อต้องนำทั้งเล่มหรือเฉพาะเนื้อหาที่ต้องการไปใช้ก็คงเหน็ดเหนื่อยพอสมควร แต่เมือ่หนังสือ เป็น 100,000 เล่ม สามารถบันทึก เก็บ และอ่านได้บน Book Reader เช่น Kindle จาก Amazon ที่สำคัญมันยังสามารถที่จะต่อกับ Wireless ได้อีกด้วย
ภาพที่ผู้คนในสังคมจะถือเครื่องมือนี้บรรจุหนังสือเป็นแสนเล่มนำไปอ่านที่ไหนก็ได้ อยากอ่านเพิ่มก็เข้าร้านเน็ต ร้านสตาร์บัค หรือ มาห้องสมุด (งานเข้าไหมครับ) แล้วอย่างที่ผมเคยบรรยายในงานสัมมนาคือการมาตักความรู้หรือหนังสือจากเครื่องหรือแหล่งบริการที่เราจะต้องเตรียมไว้ การยืมคืนหนังสือจะเป็นรูปแบบไหนผมก็ยังเห็นภาพไม่ค่อยชัด(ซึ่งเราคงจะต้องมานั่งคุยกันและลงมือออกแบบและทดลองสร้างระบบเพื่อให้เห็นภาพร่างขึ้นมา) แต่การทำให้เกิดการยืม คืน แต่เป็นในรูปการแบ่งปันความรู้น่าจะเป็นคำตอบหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนตอนนี้
ถ้าลองคิดเล่นๆว่าไอ้เครื่องที่ว่านี้มันเกิดใช้เขียนหนังสือได้ด้วยล่ะ การก่อเกิดแบบใหม่ของวัฒนธรรมในการเขียน การหาข้อมูล การหาเรื่องราวที่อยากอ่าน การต่อยอดเชื่อมเรื่องราวระหว่างกันและให้เกียรติหรือเครดิตซึงกันและกัน ทั้งการนำผลงานหรือสิ่งที่เห็นผลมาช่วยต่อขยายให้เห็นภาพแจ่มชัดขึ้น น่าจะเป็นอีกหนทางในการยืมและคืนและต่อยอดความรู้ มากกว่าตัวหนังสือ และสตางค์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องลิขสิทธิ สิ่งที่ผมอยากตั้งคำถามหรือข้อสังเกตคือตอนนี้คือมีใครไหมที่เขียน blog ของห้องสมุดคิดจะลอกคนอื่นๆ ผมคิดว่าไม่มีหรือมีก็เป็นแค่ส่วนที่เอามาประติดประต่อกันหรือเรียบเรียงใหม่แต่ไม่ได้ก็อปมาทั้งดุ้น
วัฒนธรรมแบบนี้เชื่อได้ว่าเราได้เริ่มสร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรมการอ่าน เขียน หนังสือ ในโลกดิจดตอลขึ้นมา มันไม่ใช่สิ่งใหม่เสมอไปครับในการสร้างนวัตกรรมแต่เป็นสิ่งที่เราสามารถประยุกต์หลายอย่างให้เกิดสิ่งเกือบใหม่ที่ดีกว่าได้ และนักคอมพิวเตอร์ทั้งหลายก็คงไม่ต้องมานั่งหาวิธี block วิธีพิสูจน์ว่าความรู้อันไหนเป็นของใคร ใครจองใครทำก่อน ทำหลัง เพราะอีกอย่างที่เราคงไม่หลงลืมก็คือเครือข่ายสังคมบนดินที่มีคู่ขนานไปก็จะมีบรรยากาศในการทำงานพูดคุยไปข้างหน้า ไม่มาเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับการแก้ปัญหาที่เหมือนเถาวัลย์พันหลักในป่ารก การคิดที่จะทำอย่างไรไม่ให้พวกเราหนื่อยจากการโต้คลื่นสารสนเทศพวกนี้น่าจะเป็นประเด็นที่เราควรจะต้องคิดต่อไปมากกว่า ประกอบกับถ้าเราได้จัดกิจกรรม การแสดงออกในรูปแบบต่างๆ การทำงานวิชาการ งานวิจัย โครงการต่างๆ การนำเสนอผลงานอย่าสม่ำเสมอ น่าจะทำให้เราได้เดินทางไปในหลายทิศทางอย่างต่อเชื่อมกันได้โดยไม่ขัดกันและไปข้างหน้าได้
เรื่องราว ความคิดความเห็น การต่อยอดความรู้และการนำความรู้มาสร้างเป็นโครงการงานวิจัยและวิชาการและเชิงปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ คงจะเกิดขึ้นอีกมากมายแตกกระจายเหมือนกับความรู้สึกที่เห็นการแตกพรั่งพรูของ blog ยกตัวอย่างเช่น การจัดชั้นหนังสือที่ผมเองก็ยังนึกไม่ออก แต่พอเลาๆ ว่ามันเหมือนการเขียนอัลกอลิทึมของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เอแล้วมันจะเอามาทำอะไรต่อไปได้ ก็ต้องช่วยกันดูๆไป แต่กระบวนการในการจัดการหนังสือตั้งแต่ก่อนมาเข้าระบบ ก่อนการยืมและคืน การทำอย่างไรให้นักศึกษาหรือผู้ยืมได้ช่วยในการจัดการหนังสือ ที่ยืมไปก่อนมาคืน ถ้ายืมเยอะๆ อาจจะออกแบบที่คั่นหนังสือหรืออย่างอื่นๆที่มีไกด์และขั้นตอนหรือคู่มือเพื่อให้ความรู้และทำให้ผู้ยืมสามารถจัดการหนังสือได้ก่อนนำคืน เหมือนกับการโปรโมทแนะนำหนังสือที่ดี ที่น่าอ่านตามร้านหนังสือที่ทำให้คนเห็นและเดินไปหยิบหนังสือเล่มนั้นได้ถูกที่รวดเร็วโดยไม่ต้องค้นหา
การออกแบบแผ่นพับที่สัมพันธ์กับการยืม การคืน และเอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของตำแหน่งหรือชั้นหนังสือ เช่น วิทยาศาสตร์ก็อาจจะเป็นรูป ไอน์ไสตน์หรือดาวเทียมหรือ ตัว…ประจำมหาวิทยาลัย คอมพิวเตอร์และสารสนเทศก็อาจจะเป็นรูป Window สลับการตัว TUX (รูปนกเพนกวิน สัญลักษณของ Linux) หรือ IE Firefox ที่เป็นตัวแทนของบราวเซอร์ หรือประเภทหนัง ละครก็อาจจะเอารูปเคน ธีรเดช(จะเอารูปผมไปทำก่อนก็ได้นะครับ ไม่คิดค่าลิขสิทธิ) หรืออาจารย์สกุล หรือ รูป เชคสเปียร์ สลับกันไป หรือตามประเภทย่อย และเราน่าจะต่อยอดได้ถึงชมรม book club ที่ตอนนี้ผมก็เริ่มที่จะเป็นสาวกของหนังเกาหลีแล้ว เพราะพี่ติ๋วเริ่มแผ่อิทธิพลโดยอุตส่าห์นึกถึงและหยิบหนังสือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับหนังเกาหลีที่ผมชอบมาให้ถึงตัว
ยังมีอีกหลายกิจกรรมและโครงการครับที่แต่ละคนสามารถที่จะลุกขึ้นมาเป็นคนนำ มาผลัดกันนำและเสริมซึ่งกันและกัน ผมก็แค่รอที่จะเห็นว่า IT Update หรือสัมมนาเล็กๆภายใน คราวไหนๆสักคราว จะได้มีการนำเสนอโครงการจากพี่จันทร พี่…ต่างๆที่ผมเคยพูดไว้ในสัมมนาคราวนู้น…เราจะได้ช่วยกันต่อเติมโลกบนดินและโลกออนไลน์ให้เป็นวัฒนธรรมตกทอดถึงลูกถึงหลานทั้งของเราและผู้ใช้บริการต่อไป (ซึ้งไหมเนี่ย)
ตื่นๆไปแล้ว ต้องไปอ่านหนังสือที่พี่ติ๋วหามาให้สักหน่อย แล้วจะได้ฝันประเจิดประเจ้ออย่างนี้อีก
สู้ต่อไป TaKiatShi

One thought on “Blog Book Blook Bog Bog

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร