เทศน์มหาชาติ
ช่วงก่อนออกพรรษาได้มีท่านผู้รู้แนะนำให้ทำบูญโดยการเป็นเจ้าภาพการเทศน์มหาชาติ โดยระบุว่าให้จองกัณฑ์ที่ 11 การจองเป็นเจ้าภาพเทศน์มหาชาติต้องจ่าย 1,000 บาท และใช้ดอกบัว 12 ดอก ก็ได้จับจองเป็นเจ้าภาพเรียบร้อยแล้ว
หลังจากนั้นก็ได้หาหนังสือเกี่ยวกับเทศน์มหาชาติมาอ่าน เพราะอยากทราบข้อมูลว่าเทศน์มหาชาติมีทั้งหมดกี่กัณฑ์ แล้วกัณฑ์ที่ 11 ชื่อกัณฑ์อะไรหนอ อ่านแล้วได้ความว่าดังนี้
การจัดงานเทศน์มหาชาติ คนไทยเราเชื่อกันว่าเป็นการทำบุญใหญ่ ได้กุศลแรง การเทศน์มหาชาติ หรือมหาเวสสันดรชาดก ไม่ใช่เป็นการเทศน์แบบธรรมดาเหมือนการเทศน์ทั่วไป การเทศน์มหาชาติมีความพิเศษตรงที่มีทั้งธรรมเนียม ทำนอง และธรรมะ ผสมผสานอยู่ด้วย ธรรมเนียม คือ ประเพณี แบบแผน แบบอย่างของการแสดงธรรม เช่น พิธีกรรม พิธีการ หรือแม้แต่การตกแต่งเครื่องบูชา ส่วน ทำนอง การเทศน์มหาชาติมีลีลาที่ไพเราะ มีทั้งแหล่นอกและแหล่ใน และในเรื่องของธรรมะ นอกจากปรากฎโดยตรงในเนื้อเรื่องแล้วสิ่งที่แฝงอยู่ในทุกกระบวนการของการดำเนินงาน ได้แก่ การรู้รักสามัคคี การเป็นผู้รู้จักเสียสละกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์เพื่อลดความตระหนี่ และสร้างเสริมปัญญา ซึ่งจะเกิดจากการฟังสิ่งที่ประเสริฐ
ประเพณีการเทศน์มหาชาติ หรือมหาเวสสันดรชาดก (มีทั้งหมด 13 กัณฑ์) มีมาแต่โบราณกาล เหตุที่นับถือว่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดกสำคัญกว่าชาดกเรื่องอื่นๆ เพราะบารมีทั้งสิบอย่างของพระโพธิสัตว์ ปรากฎบริบูรณ์ในชาตินี้ จึงเรียกกันว่า “มหาชาติ” และถือกันว่าหากผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วจะได้ผลานิสงส์มาก
กัณฑ์ที่ 1 กัณฑ์ทศพร (พรสิบประการที่พระอินทร์ประสาทให้แก่พระนางผุสดี) พระนางผุสดีเป็นผู้สั่งสมบารมีไว้มากได้ตั้งจิตอธิษฐานมาแต่เดิมว่า “ขอให้ได้เป็นพุทธมารดา” เมื่อพระนางจะจุติจากสวรรค์ได้ขอประทานพร 10 ประการ ดังนี้ 1. ขอให้พระนางได้ประทับในปราสาท พระเจ้าสีวีราช 2. ขอให้ดวงเนตรทั้งสองมีสีดำประดุจตาลูกเนื้อทราย 3. ขอให้มีพระขนงเขียวดุจสร้อยคอนกยูง 4. ขอให้มีพระนามว่า ผุสดี 5. ขอให้พระโอรสทรงพระเกียรติยิ่งกว่ากษัตริย์ทั้งหลาย และมีพระราชศรัทธาในการกุศล 6. ขออย่าให้มีพระครรภ์ปรากฎนูนดังสตรีสามัญ 7. ขออย่าให้มีพระถันทั้งคู่ดำ ในเวลาทรงครรภ์ และเมื่อประสูติแล้วขออย่าให้หย่อนยาน 8. ขอให้เส้นพระเกศาดำเป็นมันดุจสีปีกแมลงค่อมทอง 9.ขอให้พระฉวีละเอียดดุจดังทองคำธรรมชาติ 10.ขอให้ทรงมีอำนาจปล่อยนักโทษประหารชีวิตให้พ้นโทษ
กัณฑ์ที่ 2 กัณฑ์หิมพานต์ (ป่าที่มีหิมะปกคลุมในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย) เนื่องจากพราหมณ์ทั้ง 8 จากเมืองกลิงคราษฎร์มาทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์จากพระเวสสันดร และพระเวสสันดรก็พระราชทานให้ ทำให้ประชาชนโกรธแค้น พากันไปกล่าวโทษกับพระเจ้ากรุงสญชัยขอให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากวัง
กัณฑ์ที่ 3 กัณฑ์ทานกัณฑ์ (ตอนว่าด้วยการบริจาคสัตตสดกมหาทาน) สัตตสดกมหาทาน คือ ทานพิเศษที่ทรงบริจาคในคราวนั้นมี 7 อย่าง อย่างละ 700 คือ ช้าง 700, ม้า 700, รถ 700, สตรี 700, แม่โคนม 700, ทาสชาย 700 และ ทาสหญิง 700 เมื่อพระเวสสันดรทรงบริจาคสัตตสดกมหาทานแล้ว จึงเสด็จนำพระนางมัทรีและพระโอรสธิดาไปทูลลาพระเจ้ากรุงสญชัยไปบวชที่เขาวงกต
กัณฑ์ที่ 4 กัณฑ์วนประเวศน์ (สี่กษัตริย์เสด็จยังเขาวงกต) พระเวสสันดรและพระมเหสีพร้อมด้วยพระโอรสธิดาเสด็จไปยังเขาวงกตผ่านตำบลต่าง ๆ มาโดยลำดับเมื่อถึงแคว้นเจตราษฎร์ กษัตริย์เจตราษฎร์จึงตามส่งเสด็จจนถึงประตูป่าและตรัสสั่งให้พรานเจตบุตรเฝ้าระวังภัยอย่าให้ใครรบกวน เมื่อทั้ง 4 พระองค์เสด็จถึงเขาวงกตได้พบอาศรมบทที่พระวิษณุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ จึงทรงอธิษฐานเพศเป็นดาบสทั้ง 4 พระองค์อยู่ที่เขาวงกตนั้น
กัณฑ์ที่ 5 กัณฑ์ชูชก (ตอนว่าด้วยเฒ่าชราตาชูชก) เฒ่าชูชกซึ่งมีรูปร่างอัปลักษณ์ได้นำเงินที่ขอทานมาได้้ไปฝากเพื่อนพราหมณ์ไว้ ครั้นเพื่อนเห็นว่าชูชกหายไปนานไม่ส่งข่าวคราวก็คิดว่าคงตายแล้วจึงนำเงินที่ฝากมาใช้จ่าย เมื่อชูชกมาทวงเงินคืน พราหมณ์สองผัวเมียไม่มีเงินให้ จึงยกลูกสาวชื่อว่าอมิตตดาให้ชูชกไป นางอมิตตดาปรนนิบัติตาเฒ่าชูชกอย่างดี ทำให้หญิงสาวในหมู่บ้านต่างไม่พอใจนางอมิตตดาเพราะถูกสามีของตนเปรียบเทียบกับนางอมิตตดา นางอมิตตดาจึงเลิกทำงานบ้านและให้ชูชกไปขอ 2 กุมารมาเป็นทาส
กัณฑ์ที่ 6 กัณฑ์จุลพน (ป่าเล็กหรือป่าโปร่ง) ชูชกจึงเดินทางไปเมืองสีพีเพื่อถามหาพระเวสสันดรแต่ถูกชาวเมืองไล่จนวิ่งเตลิดหนีเข้าป่าไป พบหมาล่าเนื้อของพรานเจตบุตรวิ่งไล่จึงวิ่งหนีขึ้นต้นไม้ พรานเจตบุตรตามมาทันก็เงิ้อหน้าไม้หมายจะฆ่า แต่ชูชกโกหกว่าเป็นทูตมาเชิญพระเวสสันดรกลับวัง นายพรานเจตบุตรจึงต้อนรับขับสู้ชูชกอย่างดี
กัณฑ์ที่ 7 กัณฑ์มหาพน (ป่าใหญ่หรือไพรกว้าง) ชูชกออกเดินทางตามคำแนะนำของพรานเจตบุตรจนมาถึงอาศรมพระอัจจุตฤาษี โกหกว่าตัวเองเป็นพราหมณ์ที่คุ้นเคยกับพระเวสสันดรมาก่อน อัจจุตฤาษีก็หลงเชื่อชี้ทางให้ชูชก
กัณฑ์ที่ 8 กัณพ์กุมาร (ตอนว่าด้วยชูชกเข้าเฝ้าทูลขอสองกุมาร กัณหา ชาลี) เมื่อพระนางมัทรีออกไปหาผลไม้ชูชกก็เข้าเฝ้าพระเวสสันดรทูลขอพระชาลีและพระกัณหา โดยยกเอาแม่น้ำทั้งห้าสายมาบรรยาย พระเวสสันดรก็ยกให้ แต่สองกุมารได้หนีไปซ่อนตัวในสระบัว พระเวสสันดรจึงทรงเรียกพระโอรสและพระธิดาขึ้นจากสระ โดยทรงอุปมาว่าพระโอรสและพระธิดาเปรียบเหมือนสำเภาทองที่จะพาพระองค์ข้ามห้วงวัฏสงสารได้ สองกุมารจึงยอมไป ชูชกเมื่อได้ตัวสองกุมารมาแล้วก็เอาเถาวัลย์ผูกพระกรทั้งสองพระองค์แล้วก็ตีต่อหน้าพระเวสสันดรอย่างไม่ปรานี
กัณฑ์ที่ 9 กัณฑ์มัทรี (พระนางมัทรีเข้าป่าหาผลไม้ กลับมาไม่พบชาลี กัณหา เข้าไปทูลถามพระเวสสัสดร ตัดพ้อต่อว่าแล้วสลบไป) เมื่อชูชกพาสองกุมารไปแล้ว พระอินทร์เกรงว่าถ้าพระนางมัทรีกลับมาแต่กลางวันอาจติดตามไปทัน จึงเนรมิตกายเป็นเสีอโคร่ง ราชสีห์มาขวางไว้ กว่านางจะกลับถึงอาศรมก็เป็นเวลาพลบค่ำ ครั้นกลับมาไม่เห็นสองกุมารก็เข้าไปถามจากพระเวสสันดร พระองค์ก็ไม่บอก นางจึงออกตามหาอยู่ตลอดคืนและสลบไป เมื่อฟื้นขึ้นพระเวสสันดรได้บอกความจริงและขอให้พระนางช่วยอนุโมทนาด้วย
กัณฑ์ที่ 10 กัณฑ์สักกบรรพ พระอินทร์แปลงเป็นพราหมณ์แก่มาขอพระนางมัทรี พระอินทร์ขอพระนางมัทรีได้แล้วก็ถวายคืน และขอมิให้พระราชทานให้คนอื่นอีก พร้อมทั้งให้พระเวสสันดรขอพรได้ 8 ประการ
กัณฑ์ที่ 11 กัณฑ์มหาราช ชูชกได้พาสองกุมารหลงเข้าไปในเมืองสีพี พระเจ้ากรุงสญชัยทอดพระเนตรเห็นพระนัดดาทั้งสอง จึงตรัสใช้ให้อำมาตย์นำตัวมาเฝ้า และทำการไถ่ตัวสองกุมาร ส่วนชูชกก็ได้รบพระราชทานรางวัลมากมาย แต่เพราะบริโภคอาหารมากไปจึงสิ้นใจเพราะอาหารไม่ย่อย
กัณฑ์ที่ 12 กัณฑ์ฉกษัตริย์ ว่าด้วยกษัตริย์ทั้ง 6 พระองค์คือ พระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระชาลีและพระกัณหา พบกันที่เขาคีรีวงกตแล้วบังเกิดความโศกเศร้าจนสลบไป พระอินทร์จึงบันดาลให้เกิดฝนโบกขรพรรษตกลงมา
กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์ พระเจ้ากรุงสญชัยพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ขอพระราชทานอภัยต่อพระเวสสันดร และเชิญพระเวสสันดรสึกจากเพศฤาษีกลับไปครองเมืองตามเดิม พระเวสสันดรจึงยกทัพกลับคืนนครสีพีปกครองไพร่ฟ้ามีความสุขสืบมา
จริง ๆ แล้วเนื้อหาในแต่ละกัณฑ์มีรายละเอียดที่สนุกสนานและน่าสนใจอีกมาก แต่หากจะให้พิมพ์ลงในนี้ทั้งหมด เกรงว่าไม่คนอ่านก็คนพิมพ์คงได้เบื่อกันไปข้างหนึ่ง หากผู้ใดที่อ่านแล้วสนใจอยากจะทราบเนื้อหาโดยละเอียด สามารถตามไปอ่านได้ตามชื่อหนังสือที่เขียนอ้างอิงไว้ด้านล่างนี้นะครับ
1. เทศน์มหาชาติ /โรงเรียนราชินี. กรุงเทพฯ : กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนราชินี. 2548.
2. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ จ่าสิบเอกหญิงอุไร (สิ่ม) อังกินันทน์. กรุงเทพฯ : บริษัทสามเจริญพาณิชย์, 2542.
2 thoughts on “เทศน์มหาชาติ”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
ไว้มี่เรื่องดีดี แบบนี้ชวนทำบุญบ้างนะ ไม่ค่อยพบบ่อยนัก “เทศน์มหาชาติ ” เพราะใครได้ฟังแล้วจะเป็นนกุศล อย่างยิ่ง …
พี่แมวชอบกัณฑ์ 11กัณฑ์มหาราช สอนให้รู้จักความเมตตากรุณา ไม่ให้โลภมาก ให้รู้จักความพอดีๆ