Sound library

ความเป็นมาของห้องสมุดเสียง

ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล  ขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรได้เขียน "โครงการจัดอุปกรณ์โสตทัศนศึกษาของวิทยาลัยทับแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม" ขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2510 และในโครงการนี้ ฯพณฯ ได้ระบุไว้ว่าการจัดหาอุปกรณ์ที่จะอำนวยประโยชน์ในการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็น

ดังความตอนหนึ่งที่ว่า "ผู้เขียนได้เคยรับรายงานจากผู้ที่ไปดูการศึกษาในต่างประเทศหลายครั้งหลายหนและได้เคยไปดูเองหลายครั้งหลายหน เห็นว่าปัจจุบันการศึกษาที่มีคุณภาพต้องพึ่งอุปกรณ์มากเมื่อได้ดูมาแล้ว ก็มิใช่ว่าจะรับมาทั้งดุ้นได้มาคิดดัดแปลงให้เหมาะสมแก่สภาพของประเทศไทยและนักศึกษาไทย อุปกรณ์ที่ต้องการแบ่งได้เป็นสองส่วนคือ Sound Library และ T.V."

ในการจัดสร้างห้องสมุดเสียง (Sound Library) ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่สื่อมวลชนของอีคาเฟ (ECAFE) และเจ้าหน้าที่ของบริษัทกระจายเสียง บี.บี.ซี. (B.B.C)  ซึ่งประจำอยู่ที่อีคาเฟ ได้รับคำแนะนำว่าบริษัทที่จะสามารถจัดหาอุปกรณ์และดำเนินการติตตั้งให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ มีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทยขณะนั้นคือ บริษัทฟิลิปส์แห่งประเทศไทย จึงได้ตกลงลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัทฟิลิปส์ให้เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2512 จนสามารถเปิดใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2513 พร้อมกับการเปิดคณะศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยศิลปากร นับว่าเป็นห้องสมุดเสียงแห่งแรกของประเทศไทย

ห้องสมุดเสียงคืออะไร

ห้องสมุดเสียง (Sound Library) คือ สถานที่รวบรวมเสียงต่าง ๆ ที่ได้บันทึกไว้และจัดเก็บเป็นหมวดหมู่คล้ายกับการจัดเก็บหนังสือในห้องสมุด ทั้งนี้เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาตามความ ประสงค์โดยมีจุดมุ่งหมายในการดำเนินงานเพื่อ...

  1. เสริมการสอนวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรด้วย "เสียง"  ตาม ที่ผู้สอนต้องการ
  2. เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ศึกษาตามลำพัง นอกเวลา เรียน และให้ได้รับความบันเทิงตามสมควร
  3. รักษาสมบัติวัฒนธรรมทางเสียงไว้เพื่อการศึกษาค้นคว้าในอนาคต

ส่วนประกอบของห้องสมุดเสียง

ห้องสมุดเสียงแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

  1. ที่เก็บรักษาวัสดุรวบรวมเสียง และแถบบันทึกเสียงต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการจัดทำเป็นแถบเสียงต้นฉบับแล้ว โดยจัดแยกเป็นหมวดหมู่ตามประเภทของรายการ บรรจุไว้ในตู้เก็บ
  2. อุปกรณ์สำหรับการฟังรายการห้องสมุดเสียง ได้แก่ แท่นบรรจุเครื่องเล่นแถบบันทึกเสียง ตู้สลับสายอัตโนมัติสำหรับบังคับเครื่องเล่นแถบบันทึกเสียง และเครื่องเรียงฟังรายการห้องสมุดเสียง มีลักษณะการทำงานคล้ายกับเครื่องโทรศัพท์แบบกดตัวเลข
  3. ห้องบันทึกเสียง ใช้สำหรับบันทึกเสียงรายการเสียงต่างๆ เพื่อจัดทำเป็นแถบบันทึกเสียงต้นฉบับ และรายการเสียงสำหรับบรรจุในแท่นเครื่องอัตโนมัติ

       

ห้องสมุดเสียงเก็บรวบรวมเสียงอะไรไว้บ้าง

เสียงต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการจัดเก็บ ไว้ในรูปของแถบ บันทึกเสียงต้นฉบับ (Master Tape) สำหรับการศึกษาค้นคว้า แบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท คือ

1. พระสุรเสียง ได้แก่ กระแสพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำเนามารวบรวมไว้ในห้องสมุดเสียงของมหาวิทยาลัยศิลปากรเพียงแห่งเดียว

2. วัฒนธรรมประเพณีและศาสนา ได้แก่ งานพิธีต่าง ๆการอ่าน คำประพันธ์ เพลงชาติ เพลงพื้นเมือง พิธีกรรมทางศาสนา ฯลฯ ทั้งภาษาไทยและ ต่างประเทศ

3. การพูด ได้แก่ วาทะของนานาบุคคลเนื่องในโอกาสต่าง ๆ แบ่งตามลักษณะของการพูดออกเป็น สุนทรพจน์ คำปราศรัย การบรรยาย ปาฐกถา การรายงานข่าว การเล่าเรื่อง การสนทนา การสัมภาษณ์ การอภิปราย ฯลฯ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ

4. การแสดง ได้แก่ ดนตรี นาฎศิลป์ เพลง พื้นเมือง เพลงไทยเดิม ละคร อุปรากร ฯลฯ ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ

5. บทเรียน ได้แก่ บทเรียนเสริมการสอนวิชาต่าง ๆ โดยเฉพาะบทเรียนเสริมทักษะภาษาต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนอยู่ เช่น ภาษาจีน ฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษ เป็นต้น

 

ปัจจุบันของห้องสมุดเสียง

ปัจจุบันห้องสมุดเสียง มหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่มีอยู่แล้ว คงเหลือไว้เพยงแค่ความทรงจำ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีการจัดเก็บอุปกรณ์บางชิ้นไว้ ณ บริการโสตทัศนศึกษา งานบริการสารสนเทศ หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ชั้น 4 อาคารหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และหอสมุดฯ ได้ดำเนินการจัดทำเสียงจากเทปรีลให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล และให้บริการเป็นฐานข้อมูลเสียง

 

ที่มา : มหาวิทยาลัยศิลปากร.  แผนกห้องสมุด.  หน่วยห้องสมุดเสียงและโสตทัศนูปกรณ์.  (2525).  ห้องสมุดเสียง 2513-2525.  นครปฐม : หน่วยห้องสมุดเสียงฯ.