รู้จักหอสมุดฯ

รู้จักหอสมุดฯ

เชื่อกันว่าทุกคนในทับแก้วรู้จักห้องสมุดเท่าๆ กับสระแก้ว แต่ความถี่ของการไปห้องสมุดกับความถี่ของการไปเดินบนสะพานที่ทอดโค้งของสระแก้ว ท่ามกลางสายน้ำและสายลม กับการนั่งอยู่ท่ามกลางตัวอักษรที่ร้อยเรียงในหนังสือแต่ละเล่มแต่ละเล่มอาจแตกต่างกันไปบ้าง อยู่ที่ว่าใครจะชมชอบวิถีชีวิตแบบไหน

ห้องสมุด เป็นคำสั้นๆ เรียกกันง่ายๆ ที่สื่อหมายถึง หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง  มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นชื่อในภาษาราชการที่ยาวเหยียด ซึ่งผู้ที่อยู่ในแวดวงหน่วยงานราชการ มองเห็นก็ร้องอ้อ! เข้าใจซึ่งความหมาย แต่บางครั้งก็ไม่แน่นะ จึงขออธิบายถึงที่มาที่ไปเล็กน้อย

สำนักหอสมุดกลางเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลห้องสมุดอีกชั้นหนึ่ง เปรียบเหมือนพ่อแม่ที่มีลูกหลายคน ลูก ๆ ต่างก็แยกย้ายกันไปทำงานต่างที่ต่างถิ่น ลูก ๆ ที่พูดถึง ในปัจจุบัน ได้แก่  หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์  หอสมุดวังท่าพระ  และหอสมุดวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

       

หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2511 เป็นห้องสมุดเล็ก ๆ เล็กมาก แต่ก็เหมาะสมกับจำนวนนักศึกษาในขณะนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยเติบโตขึ้น ห้องสมุดก็เติบโตตาม จากห้องเล็กๆ ก็เป็นอาคารสองชั้น ย้ายมาอาคารสี่ชั้น และเพิ่มอาคารขึ้นอีกหลังมีจำนวน 5 ชั้น ด้วยวัยที่เพิ่มขึ้นทำให้ห้องสมุดมีความมั่นคงทั้งในเรื่องของพื้นที่โดยอาคารแรกชื่อว่าอาคารหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์มีการปรับปรุงให้สวยงาม (ปีพ.ศ.2550) จนเป็นที่กล่าวขวัญในแวดวงว่าช่างสะท้อนความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการเรียน การสอนทางด้านศิลปะและการตกแต่ง ส่วนอีกอาคารหนึ่งชื่ออาคารหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ห้องสมุดได้เข้าไปใช้พื้นที่เพื่อเปิดบริการเมื่อปี 2544 ซึ่งคงความสวยงามด้วยฝีมือของสถาปนิกชั้นนำของเมืองไทย

ความมั่นคงต่อไปคือ เรื่องงานบริการที่ทุกวันไม่ว่าจะเปิดหรือปิดบริการ พวกเราทั้ง 25 ชีวิต ก็ยังคงมีความสุขกับการทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ภาระงานเบื้องหลังคือ ความพยายามที่จะจัดหาและจัดระบบด้วยความรวดเร็วและถูกใจ ภาระงานเบื้องหน้าคือ ความพยายามที่จะบริการให้ดีที่สุด หาวิธีการให้ทุกคนได้อ่านหนังสือ ได้ใช้สิ่งที่เราเรียกว่าทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดอย่างคุ้มค่าตลอดชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัย

ภาระทั้งหมดที่พวกเรายินดีทำ ด้วยความหวังที่ต้องการให้ทุกคนมีความสุขในการอ่านมีความสุขในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม และตักตวงเพื่อบ่มเพาะตนให้รู้เท่าทันความ เปลี่ยนแปลงของโลก จบไปเป็นบัณฑิตที่มั่นคงและแข็งแรงต่อไป