วัดบางกุ้ง จังหวัดสมุทรสงคราม

      วัดบางกุ้ง เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีจุดเด่นที่พระอุโบสถ ซึ่งเป็นโบสถ์เก่าแก่ ถูกปกคลุมทั้งอาคารด้วยรากของต้นโพธิ์ ต้นกร่าง ต้นไกร จนได้รับยกให้เป็นอันซีนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม

      พระอุโบสถเป็นอาคารเครื่องก่ออิฐถือปูน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา ตามแบบวัดไทยทั่วๆไป ที่มักเป็นเครื่องลำยอง ภายในโบสถ์เป็นที่สถิตของ “หลวงพ่อนิลมณี” หรือ “หลวงพ่อดำ” ตามที่ชาวบ้านเรียกกัน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สมัยอยุธยาตอนปลาย นอกจากนี้ภายในยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ

      ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. 2308 กองทัพพม่ายกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศรับสั่งให้หัวเมืองปากใต้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้ง ที่ตำบลบางกุ้ง เมืองสมุทรสงคราม เรียกว่า “ค่ายบางกุ้ง” กองทัพพม่าซึ่งยกทัพเข้ามาตามลำน้ำแม่กลองและบุกลงมาจนถึงค่ายบางกุ้ง โดยที่กองทัพของกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถต้านทานไว้ได้ค่ายบางกุ้งจึงแตก

      หลังจากพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ. 2310 ค่ายบางกุ้งก็ตกอยู่ในสภาพค่ายร้าง เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว โปรดให้ชาวจีนรวบรวมสมัครพรรคพวกมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่ายเก่าที่บางกุ้ง จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ค่ายจีนบางกุ้ง” ในปี พ.ศ. 2311 หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาไปประมาณ 8 เดือน กองทัพพม่านำโดยเจ้าเมืองทวายยกทัพบกและทัพเรือลงมาล้อมค่ายจีนบางกุ้งไว้ ทหารจีนที่รักษาค่ายบางกุ้งสู้รบอย่างเต็มที่แต่มีกำลังน้อยกว่าเกือบจะเสียค่ายแก่พม่า กรมการเมืองสมุทรสงครามจึงมีหนังสือกราบทูลไปยังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบจึงยกกองทัพมาตีทัพพม่าแตกพ่ายไป และต่อมาในปี พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพเรือนำทหารไปออกศึกที่บางแก้ว เมืองราชบุรี ในระหว่างการเดินทางได้หยุดกองทัพพักพลเสวยพระกระยาหารที่วัดกลางค่ายบางกุ้ง

      หลักฐานโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนปัจจุบันถูกต้นไทรขึ้นปกคลุมทั้งหลังหน้าบันของพระอุโบสถ มีปูนปั้นลวดลายพันธุ์พฤกษาประดับด้วยเครื่องถ้วยซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

      ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่สมัยอยุธยาตอนปลาย สลักจากหินทรายแดง แสดงปางมารวิชัย ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ที่ฝาผนังของพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปพระอดีตพุทธเจ้า และภาพพุทธประวัติ นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดความกว้างประมาณ 5 เมตร ความยาว 7 เมตร ที่ขอบสระมีกำแพงเตี้ยกั้น และกรุด้วยอิฐถือปูนลักษณะสอบลงไป ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดบางกุ้งเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนพิเศษ 50 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2539

      ที่วัดบางกุ้งนี้เองมีศาลอยู่ทางด้านหลัง โดยมีชื่อว่า “ศาลนางไม้เจ้าจอม” หรือศาลขององค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ มีคนให้ความเคารพนับถือกันมาก

บรรณานุกรม

วัดบางกุ้ง. (2565, มีนาคม 10). ใน วิกิพีเดียhttps://th.wikipedia.org/wiki/วัดบางกุ้ง