เรื่องเบา ๆ เกี่ยวกับสารสนเทศ

เมื่อหลายเดือนก่อน หัวหน้าหอสมุดฯ มาบอกว่า ถ้ามีเวลาช่วยเขียน content เรื่องสารสนเทศให้หน่อย เอาแค่พวกปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ เพราะเห็นไปสอนเรื่องนี้ในรายวิชาหนึ่ง ของคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมาตลอดทุกปี เกือบจะ 20 ปีแล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เขียนให้ซักที วันนี้เลยถือโอกาสมาเขียนเล่าแบบย่อ ๆ เบา ๆ ไว้ตรงนี้ก่อน

ความจริงเรื่อง “สารสนเทศ” ในรายวิชานี้ คำอธิบายรายวิชาบอกไว้ประมาณว่า ประเภทและแหล่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ทั้งแบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ รวมถึงการสืบค้นฯ จะว่าไปก็น่าจะคล้าย ๆ กับวิชาที่เคยเรียนสมัยหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่ชื่อว่า “วรรณกรรมวิทยาศาสตร์” แต่หากจะถามว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเบา ๆ มั้ย ก็คงไม่เบา เพราะกว่าจะผ่านมาได้เลือดตาแทบกระเด็น เลยจะขอพูดถึงแต่ “สารสนเทศ” คงจะเบากว่ากันเยอะ  🙂

สารสนเทศ หรือ Information คือ ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ข้อเท็จจริง รวมถึงความรู้ที่ได้จากการสำรวจ การศึกษาหรือการสอน หรือผ่านการวิเคราะห์ ตีความ มีคุณค่าเพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการตัดสินใจ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการสื่อสาร และการพัฒนาด้านต่าง ๆ แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ เอกสารสิ่งพิมพ์ ไม่ใช่เอกสารสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (หากเป็นยุคก่อน คงบอกว่าแบ่งเป็น วัสดุตีพิมพ์ และวัสดุไม่ตีพิมพ์)

สารสนเทศทั้ง 3 ลักษณะดังกล่าว สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ

สารสนเทศปฐมภูมิ (Primary sources) – เกิดจากความคิด ความริเริ่ม การค้นพบ การวิจัย การทดลอง ทฤษฎีใหม่ เผยแพร่เป็นครั้งแรก ซึ่งสารสนเทศนี้จะเป็นพวกวารสารวิจัย รายงานการวิจัย รายงานการประชุมทางวิชาการ วิทยานิพนธ์ สิทธิบัตร เป็นต้น

สารสนเทศทุติยภูมิ (Secondary sources) – เป็นเครื่องมือช่วยค้นคว้าอ้างอิง รวบรวม เรียบเรียงขึ้นจากสารสนเทศปฐมภูมิ จัดเนื้อหาใหม่อย่างมีแบบแผน เป็นหมวดหมู่ ซึ่งสารสนเทศนี้ เช่น วารสารสาระสังเขป วารสารปริทัศน์ สารานุกรม พจนานุกรม เป็นต้น

สารสนเทศตติยภูมิ (Tertiary sources) – เป็นเครื่องมือชี้แหล่ง ช่วยในการค้นหาหรือเข้าถึงสารสนเทศปฐมภูมิ และทุติยภูมิ เช่น บรรณานุกรม ดรรชนีช่วยค้น นามานุกรม เป็นต้น

ว่ากันว่า สารสนเทศเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยพัฒนาความรู้ ความเชี่ยวชาญทางวิชาการ รวมถึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของการเรียนการสอน และการค้นคว้าวิจัย ซึ่งได้มีการจัดเก็บไว้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หนังสือ วารสาร ซีดีรอม รวมถึงฐานข้อมูลต่าง ๆ ฯลฯ

เล่ามาอย่างยืดยาว ก็คงต้องจบลงแค่ตรงนี้ ไม่อย่างนั้นเรื่องเบา ๆ จะกลายเป็นเรื่องหนัก ๆ ไป คิดเสียว่ามาฟื้นความหลังกันเล็ก ๆ น้อย ๆ  😎

————————————————————-

บรรณานุกรม :

ชุติมา สัจจานันท์. (2530). สารนิเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ภรณี ศิริโชติ. (2525). วรรณกรรมวิทยาศาสตร์. ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.