การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์

การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนให้การประชาสัมพันธ์ผ่านไปได้ด้วยดี ช่วยสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างหน่วยงานและประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อการเผยแพร่ข้อมูล

การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อใหม่และสื่อสังคมออนไลน์ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อใหม่ประเภทต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์องค์การ เว็บบล็อก การประชาสัมพันธ์ผ่านการฝากและแบ่งปันไฟล์ประเภทมัลติมีเดียอย่าง YouTube การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อใหม่และสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook Twitter เป็นต้น

การสื่อสารผ่านสื่อใหม่ต้องอาศัยระบบอินเทอร์เน็ตในการเชื่อมต่อการสื่อสาร มีดังนี้

  1. การใช้สื่อประชาสัมพันธ์บนอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ต คือ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงต่อกันทั่วโลก โดยมีระบบรองรับข้อมูลที่ส่งต่อถึงกันภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน   

ข้อดี 1) เผยแพร่ข้อมูลเข้าถึงคนเป็นจำนวนมากในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาหรือสถานที่ 2) ให้ข้อมูลที่เป็นจริงได้มากกว่าทั้งในรูปแบบ สี เสียง และภาพเคลื่อนไหว 3) มีบทบาทสำคัญในการเลือกใช้สื่อมากกว่าผู้ใช้สื่อทั่ว ๆ ไป 4) เป็นสื่อที่มีราคาไม่แพง 5) เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงได้ และ 6) สามารถรับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายได้ในเวลารวดเร็ว   

ข้อจำกัด 1) จำกัดกลุ่มผู้ใช้ที่มีความสามารถในการเข้าถึงและยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง 2) มีการนำเสนอข้อมูลจำนวนมากบางครั้งทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และ 3) การนำเสนอข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตเน้นความรวดเร็ว

2. สื่อใหม่ต่องานประชาสัมพันธ์ สื่อใหม่เป็นการเอาสื่อดั้งเดิมมาผสมผสาน โดยนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีการสื่อสาร และเนื้อหามาผสมผสานกัน สร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีรูปแบบการนำเสนอและการใช้งานรูปแบบใหม่

ข้อดี 1) ใช้ทุนน้อยกว่าสื่ออื่น ๆ เพราะนำระบบอิเล็กทรอนิกส์และสื่อดิจิทัลมาใช้  2) มีการนำเสนอด้วยเทคนิคที่น่าสนใจกว่าสื่อดั้งเดิม 3) สื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย 4) วัดผลได้ชัดเจนและไม่ยุ่งยาก 5) ผู้บริโภคมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น 6) ไม่จำกัดเวลาและพื้นที่ 7) ตอบสนองความต้องการของข้อมูลได้ทุกระดับ และ 8) สื่อใหม่เผยแพร่และกระจายข่าวได้อย่างรวดเร็วใน 1-2 นาที

ข้อจำกัด 1) สื่อใหม่ทำให้ผู้บริโภคมีบทบาทมากเกินไปในบางครั้ง 2) ต้องมีอุปกรณ์ในการเข้าถึงข้อมูล เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์พกพา สมาร์ทโฟน ทำให้บางกลุ่มเข้าถึงสื่อใหม่ได้ไม่สะดวก 3) มีรูปแบบดิจิทัลและทำงานบนเครือข่ายทำให้มีการเผยแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และ 4) เป็นสื่อลักษณะสื่อดิจิทัล ทำให้อ่อนไหวต่อการก่อกวนและโจมตีของผู้ไม่ประสงค์ดี

3. การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์องค์การผ่านสื่อใหม่ประเภทต่าง ๆ 3.1) เว็บไซต์องค์การ จะมีข้อมูลข่าวสารทั่วไปขององค์การ 3.2) เว็บบล็อก (Weblog) เป็นรูปแบบการเขียนบทความบนเว็บไซต์หรือพื้นที่ส่วนตัวออนไลน์ มักเรียกโดยย่อว่า Blog เจ้าของ Blog หรือที่เรียกว่า Blogger 3.3) การประชาสัมพันธ์องค์การผ่านแหล่งรวบรวมข้อมูลหรือความรู้ (Data/Knowledge) เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลความรู้ในเรื่องต่าง ๆ 3.4) การประชาสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Online Social Networking) เครือข่ายออนไลน์ ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากคือ เฟซบุ๊ก (Facebook) และ 3.5) การประชาสัมพันธ์ผ่านการฝากและแบ่งปันไฟล์ประเภทมัลติมีเดีย (Multimedia) เป็นการประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บที่เปิดบริการรับฝากหรือแบ่งปันไฟล์ประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ คลิปวีดีทัศน์ เพลง โดยเว็บยอดนิยมที่ใช้กันมากที่สุดทั่วโลกคือ ยูทูบ (YouTube) หัวใจสำคัญของการประชาสัมพันธ์ผ่าน YouTube คือการทำให้เนื้อหามีความน่าสนใจ ดึงดูดใจ และถูกใจผู้ชม

  1. หลักการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อใหม่และสื่อสังคมออนไลน์ 4.1) หลักการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ (Websites) เนื้อหามาก ๆ การนำเสนอผ่านเว็บไซต์มีข้อจำกัดเรื่องความจำกัดของหน้าจอ การนำเสนอเรื่องราวยาว ๆ ต้องจัดระบบการทำงานบนเว็บไซต์เพื่อให้ผู้ใช้สะดวกในการค้นหาและการอ่าน โดยมีการจัดมีดังนี้ 1) การกำหนดแนวทางของเว็บไซต์ 2) หัวข้อเรื่องที่จะครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด 3) การเชื่อมโยงหรือการลิงก์ไปยังข้อมูลอื่น และ 4) รูปแบบลีลาหรือสไตล์การเขียน 4.2) หลักการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ผ่านบล็อก มีคุณลักษณะ ดังนี้ 1) เขียนสั้น ไม่เขียนยาว 2) เขียนหัวข้อ หรือชื่อเรื่องให้สั้น กระชับ แต่เร้าความสนใจ 3) เขียนด้วยลีลาและภาษาที่ไม่เป็นทางการ 4) ถ้าเขียนบทความ ให้เขียนตามโครงสร้างเดิมคือ บทนำ เนื้อเรื่อง บทสรุป 5) เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ 6) หากนำข้อมูลมาจากแหล่งอื่น ๆ ต้องเขียนอ้างอิงทุกครั้ง 7) ใช้วิธีการนำเสนอที่หลากหลายประกอบการเขียน และ 8) ควรมีการตอบกลับ การแสดงความคิดเห็นการให้คำแนะนำ 4.3) การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ผ่านทวิตเตอร์ มีลักษณะเฉพาะตัวที่เน้นความสั้น ชัดเจนกว่าช่องทางอื่น ๆ เนื่องจากทวิตเตอร์สามารถพิมพ์ข้อมูลได้ไม่เกิน 140 ตัวอักษร มีหลักการเขียนดังนี้ 1) สั้นได้ใจความ หากจะใส่ URL หรือ Link เพื่อให้ผู้สนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติม ก็ต้องเลือกใช้ที่ไม่ยาวมากนัก 2) ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ 3) หาคำหลัก/คำสำคัญ Keywords ที่เหมาะสม พร้อมด้วยแฮชแท็ก เพื่อง่ายต่อการค้นหา 4) จำไว้ว่า One tweet/One subject หมายถึงแต่ละโพสต์หรือแต่ละครั้งที่ทวีต ให้มีประเด็นเดียวหรือเรื่องเดียวเท่านั้น และ 5) แนบไฟล์ภาพ ถ้ามีไฟล์ภาพประกอบ 4.4) การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook) สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การประชาสัมพันธ์ผ่านโปรไฟล์ (Profile) การประชาสัมพันธ์ผ่านแฟนเพจ (Fanpage) การประชาสัมพันธ์ผ่านกลุ่ม (Group)  การประชาสัมพันธ์ผ่านระบบโฆษณา (Facebook Ads) การประชาสัมพันธ์ผ่านระบบแอพพลิเคชั่น (Application) ซึ่งเป็นช่องทางในการส่งข้อมูลข่าวสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องรูปแบบการเขียน การใช้ภาษาให้อ่านง่ายและดึงดูดความสนใจ และต้องเขียนอ้างอิงแหล่งข้อมูลทุกครั้ง
  1. การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ผ่านทาง Instagram และ Line Instagram เป็นช่องทางที่ใช้ภาพเป็นหลัก เป็นช่องทางสำหรับการติดตามบุคคลที่มีชื่อเสียง ปัจจุบัน Instagram ได้รับความนิยมจากบริษัทและหน่วยงานหลากหลายประเภท การนำเสนอภาพใน Instagram จำเป็นต้องมีการเขียน caption ของภาพ และใช้ hashtags สามารถเชื่อมโยงกับ Facebook หรือ Twitter ได้ สำหรับ Line นั้น องค์การมักใช้ในการส่งข้อมูลข่าวสารในลักษณะข้อความสั้น ๆ เพราะผู้รับสารมักเปิดรับผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถกดเข้าไปดูข้อมูลอื่น ๆ ที่ลิงก์แหล่งข้อมูลไว้ได้

 

 

ข้อมูล

นภวรรณ ตันติเวชกุล. (2560). การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ : หลักการและหลักปฏิบัติพื้นฐาน.

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.