การอ่านให้เก่ง

เป็นชื่อเรื่องของหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าติดตาม “การอ่านให้เก่ง ” มาดูกันว่าเราควรทำอย่างไรกันบ้างค่ะ

การอ่านของคนเรามีอยู่สองอย่าง คือ อ่านโดยมีจุดประสงค์ กับอ่านไปเรื่อย ๆ ตามใจชอบ ถ้าเราอ่านได้ทั้งสองอย่างก็จะเกิดผลดี อ่านโดยมีจุดประสงค์ เช่น ต้องการหาความรู้มาประกอบการเรียน ต้องการหาคำตอบในบางอย่างบางเรื่องที่อยากรู้  ส่วนอ่านไปเรื่อย ๆ ตามใจชอบนั้น ถ้าอ่านด้วยความตั้งใจก็จะพบเนื้อหาสาระที่ช่วยให้เราได้คำตอบที่ต้องการ

 

อ่านเก่ง หมายความว่า อ่านได้คล่องแคล่ว รู้ความหมายของสิ่งที่อ่าน สรุปความคิดรวบยอดได้  ส่วนอ่านให้เก่ง หมายความว่า นอกจากอ่านเก่งแล้วยังสามารถนำเนื้อหาสาระที่ได้จากการอ่านไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ทำให้คิดเก่ง และทำงานเก่งด้วย

 

ปัญหาของนักอ่าน บางข้อแก้ง่าย บางข้อแก้ยาก บางข้อสำหรับบางคนก็แก้ไขไม่ได้เลย เช่น

1. ไม่อ่าน 2. อ่านไม่ออก 3. ไม่มีหนังสืออ่าน  4. ไม่มีเวลาอ่าน  5. ไม่มีที่อ่าน 6. อ่านช้า  7. อ่านไม่เข้าใจ 8. อ่านแล้วไม่เกิดประโยชน์

 

การพัฒนาการอ่านด้วยตนเอง ถือว่าเป็น “บันไดเก้าขั้นสำหรับการอ่านให้เก่ง”

           บันไดขั้นที่ 1 มีสมองไว้คิด  การคิด คือปฏิกิริยาของเราต่อสารที่เข้าถึงตัวเราโดยการเห็น หรือการฟัง หรือทั้งสองอย่างพร้อมกัน เช่น การดูภาพยนตร์ หรือโทรทัศน์

           บันไดขั้นที่ 2 ทำจิตให้แจ่มใส เมื่อจิตแจ่มใสจะเกิดความคิดที่ดี ความแจ่มใสจะทำให้เกิดสมาธิเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างสมาธิ เพราะสมอง สายตาและมือ ทำงานประสานกันสม่ำเสมอ การเขียนเป็นตัวช่วยให้เราต้องกลั่นกรองข้อมูลในสมอง เรียบเรียงถ้อยคำให้กระชับแล้วจึงจดแบบสรุป

           บันไดขั้นที่ 3 สนใจอ่านหนังสือทุกชนิด อ่านหนังสือทุกชนิด รักการอ่าน สนใจทุกเรื่องทุกอย่างไม่ว่าสิ่งที่เราอ่านจะยาก เราก็จะพยายามทำความเข้าใจด้วยวิธีการต่าง ๆ เมื่อสำเร็จแล้วเราต้องให้รางวัลตนเอง

           บันไดขั้นที่ 4 อย่าถือ “ดิค” เป็นคัมภีร์ “ดิค” ก็คือ ดิคชันนารี หรือพจนานุกรม ปทานุกรม อักขรานุกรม ฯลฯ ซึ่งอธิบายคำศัพท์ภาษาเดียวกันก็ได้ หรือต่างภาษาก็ได้

          บันไดขั้นที่ 5 อย่าอ่านจี้เป็นคำ ๆ ควรอ่านเป็นหน่วยข้อความ การอ่านอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ต้องอ่านแบบกวาดสายตา หรืออ่านเป็นหน่วยข้อความ

           บันไดขั้นที่ 6 ฝึกการจำความย่อ ๆ  ความย่อ ๆ มีความหมายว่า จำข้อความที่สั้นที่สุดแต่ครอบคลุมเนื้อหาสาระให้ได้มากที่สุด เราอาจจะทำเครื่องหมายเพื่อให้เกิดความจำนั้นๆ หรือการสรุปความคิดแต่ละเรื่องที่เราอ่าน หรือจะสร้างแผนภูมีรูปภาพก็ทำได้

           บันไดขั้นที่ 7 รู้จักขอความช่วยเหลือ  คนคนแรกที่เราควรปรึกษาเรื่องการเรียนและการดำเนินชีวิตประจำวันของเราคือ ตัวเราเอง ปรึกษาตนเองก่อน ปรึกษาตนเองด้วยการคิดอย่างมีเหตุผลเสมอแต่ถ้าปรึกษาตนเองแล้วยังไม่สำเร็จ ปรึกษาครูก็ไม่กล้า หรือปรึกษาแล้วก็ยังมืดอยู่อีก วิธีสะดวกสบายอย่างยิ่งสำหรับนักอ่านก็คือ อ่านเสริม ค้นคว้าจากหนังสือ

            บันไดขั้นที่ 8 อ่านไม่เบื่อทุกวิชา เรายืดอกให้ผึ่งผาย หายใจให้เต็มที่ทำให้สมองโปร่งมากที่สุดหรืออาจจจะเสริมการอ่านของตนเองได้ก็คือ การไฮไลท์ตัวหนังสือหรือข้อความที่สำคัญหรือเรียกง่ายๆ เราอาจจะใช้สีเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราไม่เบื่อในการอ่านหนังสือของทุกวิชา

            บันไดขั้นที่ 9 ชีวิตมีค่าและประสบความสำเร็จ การอ่านหนังสือมีความสำคัญต่อความนึกคิดของคน ตลอดจนพฤติกรรมที่แสดงออกต่อเพื่อนมนุษย์ อย่างเช่นครูประทีป อึ้งทรงธรรม นางฟ้าในสลัม และผู้รับรางวัลแมกไซไซกับรางวัลอีกมากมาย เพราะว่าท่านขยันอ่าน  อ่านทุกอย่างที่เห็น จนกระทั่งอ่านเก่ง ทุกคนมีโอกาสในการทำชีวิตให้มีค่าและประสบความสำเร็จเท่ากัน

 

การอ่านจึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต การอ่านหนังสือทุกชนิด รักการอ่าน เข้าใจเรื่องที่อ่าน ทำให้เรามีทักษะมีความรู้ในหลาย ๆ ด้าน ทำให้ชีวิตเรามีความสุขและประสบความสำเร็จ

 

สนใจอ่าน เลขเรียกหนังสือ Z1003ถ36 2550 ค่ะ